รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ “ไทย-กัมพูชา” ร่วมประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยว ครั้งที่ 3 อำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดน ส่งเสริมการตลาด กระตุ้นการลงทุนภาคการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสก โสเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาได้เป็นประธานร่วมการประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเข้าร่วม
ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบรายงานสรุปผลการประชุมทวิภาคีระดับคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 7 ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานได้เห็นชอบร่วมกันในการผลักดันและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและกัมพูชา ปี พ.ศ. 2566-2568 ให้มีผลลัพธ์การดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
โดยครอบคลุมประเด็นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดน การส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การท่องเที่ยวคุณภาพ และการลงทุนด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการเป็น “สองราชอาณาจักร หนึ่งจุดหมายปลายทาง” อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศให้การรับรองต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ปี พ.ศ. 2566-2568 ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการระยะสั้น ที่กำหนดกลยุทธ์และการดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผ่านการสนับสนุนให้เกิดการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวระหว่างกัน และเป็นการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
2) รายงานการประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นความคืบหน้าการดำเนินการของแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนผ่านการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงทางอากาศ ทางทะเล และทางบก
ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดทำโครงการและกลยุทธ์การตลาดภายใต้หัวข้อหลัก “สองราชอาณาจักร หนึ่งจุดหมายปลายทาง” อีกทั้งมีการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) และยกระดับทักษะเดิม (Upskill) ของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (MRA-TP)
รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวผ่านการกำหนดมาตรฐานการบริการด้านการท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ยังมีการลงทุนด้านการท่องเที่ยว ผ่านการขยายเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและนักลงทุนด้านการท่องเที่ยว