คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
เดินหน้าทำการตลาดและลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาโรงแรมใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่องสำหรับกลุ่มดุสิตธานี ปัจจุบันยังมีโรงแรมและรีสอร์ตกว่า 60 แห่งที่อยู่ในแผนการพัฒนาเพื่อเปิดให้บริการในอนาคต
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจสำหรับโค้งหลังของปีนี้ รวมถึงแผนการเปิดให้บริการโครงการใหม่ ๆ และมุมมองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไว้ดังนี้
มู้ดท่องเที่ยวไทยดีต่อเนื่อง
“ศุภจี” บอกว่า ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล สอดรับกับแนวทางการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวผ่านมาตรการวีซ่า ทั้งวีซ่าฟรี และการขยายเวลาวีซ่าจาก ผ.30 เป็น ผ.60 เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติออกเดินทางและมีวันพักที่นานขึ้น
โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ยังเป็นเดสติเนชั่นที่ดีมากต่อเนื่อง ขณะที่หัวหิน (ประจวบฯ) ยังดีเฉพาะช่วงวันหยุด และส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่นเดียวกับเชียงใหม่และเมืองรองอื่น ๆ ที่ยังมีความท้าทายสูง
อย่างไรก็ตาม หากดูจากสถิตินักท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังพบว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีศักยภาพในการทำราคาห้องพักได้ค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเทียบมาตรฐานของโรงแรม
ปี’67 พร้อมเปิดโรงแรมใหม่ 10 แห่ง
“ศุภจี” บอกอีกว่า สำหรับกลุ่มดุสิตธานีเองนั้นยังสามารถเดินหน้าธุรกิจได้ตามแผนที่วางไว้ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีสามารถขยายธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เนปาล 2 แห่ง ญี่ปุ่น 2 แห่ง กรุงเทพฯ 1 แห่ง (อาศัย สาทร) จีน กรีซ เป็นต้น
สำหรับปี 2567 นี้ ตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 10 แห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ และ 1 ใน 10 แห่งนี้ คือ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่มีกำหนดเปิดให้บริการ 27 กันยายน 2567 นี้ ซึ่งปัจจุบันมียอดจองล่วงหน้าเข้ามาแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของห้องจัดประชุมสัมมนา ที่มียอดจองยาวไปถึงเดือนเมษายน-พฤษาคม 2568 แล้ว
“ปัจจุบันเรามีธุรกิจโรงแรมรีสอร์ตและวิลล่าหรู ภายใต้ 8 แบรนด์ตั้งอยู่ในจุดหมายปลายทางชั้นนำกว่า 300 แห่ง ใน 19 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นโรงแรมและรีสอร์ตรวมประมาณ 60 แห่ง และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ครบ 100 แห่ง ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”
ชูหลัก 3 สร้าง 2 กระตุ้น 1 ลด
เมื่อถามถึงแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวในวันนี้ควรไปในทิศทางไหน “ศุภจี” บอกว่า นโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในวันนี้และในอนาคต ประกอบด้วย 3 สร้าง 2 กระตุ้น และ 1 ลด
กล่าวคือ 3 สร้าง ได้แก่ 1.สร้างแบรนดิ้งประเทศไทยให้มีความชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องการวางตัวเองเป็นแบบไหน ถ้าต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายจำนวนมาก ก็ต้องวางตำแหน่งให้เป็นพรีเมี่ยมเดสติเนชั่น เป็นจุดหมายปลายทางที่คุ้มค่า และต้องชัดเจนว่ามีความลักเซอรี่ในด้านไหนบ้าง ไม่ใช่เป็นประเทศที่เน้นในด้านปริมาณเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
2.สร้างความมั่นใจ กล่าวคือต้องทำให้คนที่จะเดินทางเข้ามามั่นใจในความปลอดภัย สะดวก สะอาด ถูกสุขอนามัย และ 3.สร้างมาตรฐาน ต้องยกระดับความรู้ ความสามารถ แรงงานให้ตอบโจทย์กับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป
“ไม่ใช่พูดกันแค่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องเข้าใจบริบทของธุรกิจด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรมนั้นพนักงานไม่ได้มีแค่เงินเดือน ยังมีค่าเซอร์วิสชาร์จที่สูงกว่าเงินเดือน อย่างโรงแรมภูเก็ตรับกันที่ 7-8 หมื่นบาทต่อเดือน หรือโรงแรมขนาดเล็กในกรุงเทพฯ อย่างโรงแรมอาศัยรับกันที่ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน ดังนั้นอยากให้มีมาตรการอื่น ๆ มารองรับประเด็นการขึ้นค่าแรงด้วย เช่น บริษัทไหนมีเทรนนิ่งพนักงานสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น”
ส่วน 2 กระตุ้น คือ 1.กระตุ้นเรื่องประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดี เช่น มีการกำหนดมาตรฐานเช่นเดียวกับในช่วงโควิดที่มีมาตรฐาน SHA หรือ SHA+ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าระบบมาตรฐาน ได้รับการส่งเสริมด้านการตลาด หรือมีมาตรการด้านภาษีมาช่วยกระตุ้น เป็นต้น
และ 2.กระตุ้นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม วันนี้ผู้ประกอบการที่ทำยังทำด้วยความสมัครใจ แต่รัฐบาลควรมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาสนับสนุน เช่น การลงทุนด้านพลังงาน โซลาร์เซลล์ หรือกำจัดอาหารเหลือต้องใช้เงินลงทุนอ ตรงนี้ควรส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยการช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย เช่น การลดภาษี ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายช่วยลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต
สำหรับ 1 ลด ในที่นี้หมายถึงการลดในเรื่องของความซ้ำซ้อน ความยากลำบากในการทำงาน เช่น โรงแรม 200 ห้อง 300 ห้อง ขอใบอนุญาตเท่ากับโรงแรม 10-20 ห้อง และวันนี้รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป มีโฮมสเตย์ มีแชร์อีโคโนมีเกิดขึ้น ในต่างประเทศทำได้ แต่ที่บ้านเรายังผิดกฎหมาย เป็นต้น วันนี้เปิดโรงแรม 1 แห่ง ต้องขอใบอนุญาตไม่ต่ำกว่า 18 ใบ เป็นต้น
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เหมือนจะไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุน หรือการแก้การท่องเที่ยว แต่ถ้าทำแล้วจะช่วยการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
หนุนเจาะเซ็กเมนต์ให้ชัดเจนขึ้น
สำหรับเรื่องการกระตุ้นดีมานด์นั้น “ศุภจี” บอกว่า ทุกวันนี้ดีมานด์ของนักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวประเทศไทยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าในเชิงรายได้จะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายได้หรือไม่
และส่วนตัวมองว่าทุกวันนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ทำในเรื่องของการกระตุ้นดีมานด์ได้ดีมาก แต่เราอาจจะต้องโฟกัสมากขึ้นในเรื่องของเซ็กเมนเตชั่น และทำแคมเปญเฉพาะทางมากขึ้น
อาทิ แคมเปญส่งเสริมการเดินทางเพื่อสุขภาพ ต้องเจาะตลาดไหน หรือกลุ่มเวลเนสต้องเจาะตลาดไหน หรือถ้าอยากได้กลุ่มคู่ฮันนีมูน ต้องเจาะตลาดไหนและทำการตลาดอย่างไร อยากได้พวกดิจิทัลนอแมด พวกที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยเราต้องเจาะตลาดไหน ต้องมีแพ็กเกจแบบไหนรองรับ เป็นต้น ซึ่งหากเราคิดแบบนี้เราก็จะมีแคมเปญที่เฉพาะเจาะจง
รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมืองหลักไปสู่เมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยว ที่ควรใช้สนามบินภายในประเทศเป็นฮับแล้วใช้การเดินทางโดยรถยนต์มาเชื่อมต่อ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงเมืองรองได้ดีขึ้น พร้อมทั้งทำกิจกรรมดึงให้เกิดการเดินทางควบคู่กันไปด้วย