คอลัมน์ : สัมภาษณ์
แม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยครองส่วนแบ่งตลาดราว 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจการบินประเทศจะยังกลับมาไม่เต็มที่ แต่ธุรกิจการบินของไทยได้กลับมาเติบโตและคึกคักต่อเนื่องแล้ว
ฝูงบินทะลุ 100 ลำในอีก 5 ปี
“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการดำเนินธุรกิจและทิศทางการขยายธุรกิจในประเทศไทยในอนาคตดังนี้
“ธรรศพลฐ์” บอกว่า กลุ่มไทยแอร์เอเชียวางแผนว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า แอร์เอเชียในประเทศไทยจะมีฝูงบินรวมทั้งในส่วนของ “ไทยแอร์เอเชีย” รหัส FD และ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัส XJ รวมกันไม่ต่ำกว่า 100 ลำ โดยปัจจุบัน “ไทยแอร์เอเชีย” มีฝูงบินรวม 57 ลำ สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 60 ลำตามแผน และมีแผนรับเครื่องบินใหม่เข้ามาเพิ่มอีกทุก ๆ ปี
ส่วนสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ปัจจุบันมีเครื่องบินแอร์บัส A330 จำนวน 8 ลำ ให้บริการเที่ยวบินตรงไปยัง 7 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วย โตเกียว (นาริตะ) โอซากา ซัปโปโร และนาโกยา ญี่ปุ่น โซล (เกาหลีใต้) ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) เซี่ยงไฮ้ (จีน)
โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่อีก 2-3 เส้นทาง เช่น นิวเดลี (อินเดีย) และเซนได ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
“เรามีแผนเพิ่มเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินอีก 3 ลำในปีนี้ หรือมีจำนวน 11 ลำในเดือนธันวาคมนี้ และมีแผนทยอยรับมอบเครื่องใหม่เข้ามาเสริมอีกประมาณ 3-5 ลำต่อปี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของตลาดและการจัดหาเครื่องบินด้วย แต่อย่างน้อยที่สุดน่าจะได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 ลำ โดยมีเป้าหมายมีจำนวนเครื่องบินรวมประมาณ 30 ลำ ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า”
ผู้โดยสารรวม 40-45 ล้านคนต่อปี
“ธรรศพลฐ์” บอกด้วยว่า สำหรับ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” นั้นในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ จะยังคงโฟกัสเส้นทางบินในรัศมีที่ใช้เวลาบินประมาณ 5-6 ชั่วโมงเป็นหลัก หรือใกล้เคียงกับบินไปญี่ปุ่น เกาหลี ให้ครอบคลุมในตลาดที่มีศักยภาพก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สามารถทำความถี่ได้มากกว่าเส้นทางลองฮอลที่ใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้สามารถให้บริการผู้โดยสารได้ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าเช่นกัน
“ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ใช้เครื่อง A330 ทำการบิน สามารถบินได้ 10 กว่าชั่วโมง และไปได้ไกลถึงภูมิภาคยุโรป ซึ่งเราก็เซอร์เวย์ตลาดไว้หลายประเทศเช่นกัน แต่เราต้องเก็บตลาดระยะ 5-6 ชั่วโมงก่อน เมื่อเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น เราค่อยขยายรัศมีให้ไกลออกไปเรื่อย ๆ”
ในส่วนของ “ไทยแอร์เอเชีย” นั้น คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 21 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิด ที่มีประมาณ 22.3 ล้านคน และในส่วนของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ประมาณ 2 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 1.3 ล้านคน รวม 2 สายการบินจะมีผู้โดยสารรวมกว่า 22 ล้านคน
โดยในครึ่งปีหลังนี้ ไทยแอร์เอเชียมีแผนเปิดเส้นทางบินปีนี้ใหม่เพิ่มเติมอีก 4-5 เส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ไฮเดอราบัด (อินเดีย), กาฐมาณฑุ (เนปาล) และฟูก๊วก (เวียดนาม) ฯลฯ
ทั้งนี้ คาดว่าระยะยาวภายใน 5 ปีข้างหน้า “ไทยแอร์เอเชีย” น่าจะมีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 30 ล้านคนต่อปี และในส่วนของ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” อีกอย่างต่ำ 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งถึงเวลานั้นกลุ่มแอร์เอเชียในประเทศไทยน่าจะให้บริการผู้โดยรวม 2 สายการบินที่ประมาณ 40-45 ล้านคนต่อปี
กำไรมาก-น้อยอยู่ที่ “ค่าเงิน”
นายใหญ่กลุ่มแอร์เอเชียประเทศไทยยังประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจการบินในครึ่งปีหลังของปีนี้ด้วยว่า ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศนั้นยังคาดการณ์ยาก เนื่องจากมีปัจจัยเรื่อง “ค่าเงินบาท” เป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อไหร่ที่ค่าเงินบาทแข็ง เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าสำหรับภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นสามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน แม้ว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่มั่นใจว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งเริ่มเข้าสู่ไฮซีซั่น ตัวเลขทุกส่วนจะกลับมาแข็งแรง
“ปีนี้ตัวเลขของไทยแอร์เอเชียเราดีมาต่อเนื่อง อัตราการบรรทุกผู้โดยสารดีทุกเส้นทาง ซึ่งน่าจะทำให้มีตัวเลขกำไรอยู่ในระดับที่ดี เช่นเดียวกับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ที่ดีมาก ๆ มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่ประมาณ 86% โดยเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นเกาหลี และญี่ปุ่น โดยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารถึงกว่า 90%
พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า ปีนี้จะเห็น “ไทยแอร์เอเชีย” มีตัวเลขกำไรที่สวยงามแน่ ๆ ส่วนจะมีความสามารถในการทำรายได้มากแค่ไหน หรือตัวเลขกำไรจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับค่าเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ภาพรวมก็ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หมดตามเงื่อนไข และออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในสิ้นปีนี้