“แอร์ไลน์” เดินหน้า Q2 ฝ่าปัจจัยลบ “ราคาน้ำมันโลก” พุ่ง

จากการเติบโตอย่างโดดเด่นของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการของธุรกิจ “สายการบิน” ของไทยในช่วงไตรมาส 1/2561 ปีนี้อยู่ในแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน หลังจากที่ประสบปัญหา “ขาดทุน” และ “กำไร” ทรุดกันถ้วนหน้าในปี 2560 ที่ผ่านมา

“รายได้-กำไร” ขยายตัว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลที่สายการบินต่าง ๆ รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เป็นบริษัทที่มี “กำไร” สำหรับไตรมาส 1/2561 สูงสุดที่ 1,004.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560

เช่นเดียวกับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีกำไรสุทธิ 719.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560

ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ผู้บริหารสายการบินไทย มีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1/2561 ที่ 2,737 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 432 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.6

ขณะที่บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ แม้ว่าจะยังขยับออกจากสถานการณ์ “ขาดทุน” ได้ แต่ก็พบว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2561 นี้มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยพบว่ามีผลประกอบการขาดทุนเบ็ดเสร็จ (งบเฉพาะกิจ) รวมลดลงเหลือ 32.07 ล้านบาท จากที่ขาดทุนอยู่ที่ 297.07 ล้านบาทในไตรมาส 1/2560 หรือขาดทุนลดลงถึงร้อยละ 89.09

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขรายได้รวมพบว่า ทุกบริษัทมีรายได้รวมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น โดยบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 4,316.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 7,830.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด มีรายได้รวม 11,642.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 53,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4

ชี้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น

แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีปัจจัยลบเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตัวแปรเรื่องราคาน้ำมันโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะต้นทุนราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักถึงประมาณ 30% ของต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจสายการบิน

“แต่ในภาพรวมที่เกิดขึ้นกลับพบว่า ทุกสายการบินมีการเติบโตที่โดดเด่นมาก ทั้งในแง่ของรายได้และกำไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปีนี้สายการบินต่าง ๆ มีการวางแผนด้านกลยุทธ์และบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

และว่า นอกจากนี้ยังเห็นปรากฏการณ์ใหม่ของธุรกิจสายการบินเกิดขึ้น โดยเฉพาะการลดความรุนแรงด้านการแข่งขันด้านราคาลง รวมถึงการเร่งขยายเครือข่ายเส้นทางบินที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศไทยสามารถปลดล็อกธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ทุกสายการบินมีพื้นที่ให้ทำตลาดกันได้มากยิ่งขึ้น

ทุกค่ายพร้อมรุกหนักต่อเนื่อง

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย บอกว่า ผลการเติบโตในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เป็นผลจากการรุกตลาดภายในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะในเส้นทางเมืองรองตามนโยบายรัฐ และการเพิ่มความแข็งแกร่งในฐานปฏิบัติการการบินต่าง ๆ

ซึ่งจากความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในไตรมาสแรก ทำให้ “ไทยแอร์เอเชีย” ยังต้องเดินหน้าต่อไปอย่างดีตามแผนที่วางไว้ในช่วงไตรมาส 2 นี้ โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม

โดยปี 2561 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” ตั้งเป้ายอดผู้โดยสารสูงที่ 23.2 ล้านคน อัตราการขนส่งผู้โดยสารที่ร้อยละ 87 และรับเครื่องบินตลอดปี 7 ลำ รวมฝูงบินทั้งหมดในปีนี้ 63 ลำ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทสำหรับปี 2561 นี้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ยังคงย้ำว่า ในปี 2561 นี้ บริษัทจะยังมุ่งเน้นดำเนินการตามกลยุทธ์หลัก 5 กลยุทธ์ตามแผนฟื้นฟู พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงแผนงานให้สะท้อนต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที โดยมีแผนที่สำคัญคือ การเพิ่มศักยภาพฝูงบินด้วยการรับมอบเครื่องบิน A350-900 อีก 1 ลำ เพื่อนำไปใช้บินเส้นทางข้ามทวีปและระดับภูมิภาค

รวมทั้งการเพิ่มรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร และการขายหุ้นในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยที่ไม่สนับสนุนการดำเนินงานในธุรกิจหลัก รวมถึงจัดการที่ดิน อาคารสำนักงานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยขายอสังหาริมทรัพย์ที่หมดความจำเป็นในการใช้งานทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ด้าน “ปิยะ ยอดมณี” ซีอีโอ สายการบินนกแอร์ บอกว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าแผนการฟื้นฟูธุรกิจของสายการบินให้ผลลัพธ์อย่างดีเยี่ยม และสายการบินกำลังแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และจะยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาภายในเพื่อยุติภาวะขาดทุนและเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอีกในช่วงไตรมาส 2/2561 นี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกสายการบินต้องฝ่าฟันในไตรมาส 2 นี้ยังคงเป็นเรื่องของ “ราคาน้ำมันโลก” ที่ยังคงเป็น “ปัจจัยลบ” ที่น่าวิตกต่อไป…