
“การบินไทย” ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567 พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการภายในปี’67 มุ่งเพิ่มฝูงบินอีก 2 ลำ ตอบรับเป็นศูนย์กลางการบิน คาดเตรียมยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ก.ย.นี้
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2563 โดยมีการแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) และได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก รวมทั้งได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565
พร้อมทั้งกำหนดกรอบเวลาในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งได้ชี้แจงต่อเจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าแผนกำหนดไว้จากเดิมประมาณปี 2568
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากไตรมาสแรกของปี 2567 โดยจะถือเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการเดินทางอยู่ในระดับต่ำสุดของปี
ขณะที่บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 5,925 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 ที่มีกำไร 8,576 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,796 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว
ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท โดยมี EBTIDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท
เพิ่มฝูงบินตอบรับเป็นศูนย์กลางการบิน
สำหรับปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 77 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2567 เฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.6% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 78.1% ต่ำกว่าปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 81.4% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวม 7.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.81 ล้านคน หรือคิดเป็น 11.8%
ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 4 ของปี 2567 จะเปิดให้บริการเที่ยวบินเพิ่มอีก 2 ลำ เป็นทั้งหมด 79 ลำ พร้อมกลับมาทำการบินในเมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และกรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทาง และพัฒนาความร่วมมือกับสายการบินคูเวตแอร์เวย์ส ในรูปแบบเที่ยวบินรหัสร่วม เชื่อมต่อเครือข่ายไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และยุโรป ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้จำนวน 3.81 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 73.2%
ไม่สามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินได้
เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของฝูงบิน ซึ่งต่อจากนี้ จะมีการเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
นำสายการบินไทยสมายล์เข้ามา
สามารถบริหารการใช้เครื่องบินจาก 9 ชั่วโมง เป็น 12 ชั่วโมง ตอบสนองการฟื้นตัวของตลาดได้ทันเวลา ทั้งนี้ ยังปรับการขายตั๋วโดยตรงผ่านเว็บไซต์ และ Call Center ที่สะดวกมากขึ้น
ทอท.ปรับปรุงพื้นที่เทอร์มินอล
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะมีการจัดการใช้พื้นที่เทอร์มินอล มีการจัดโซนนิ่งของกลุ่มสายการบินไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ภาคพื้นและผู้โดยสาร และสามารถลดเวลาและอุบัติเหตุได้ สายการบินวางแผนได้ และการล่าช้าลดลง รวมไปถึงการปรับลดเวลาในการตรวจหนังสือเดินทาง และการเพิ่มการใช้ระบบแอปพลิเคชั่นมากขึ้น ส่วนระยะยาวเป็นเรื่องการขยายสนามบินของ ทอท.
แผนการเพิ่มทุนของการบินไทย
ด้านนางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า คาดจะยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (Filing) ได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างรอข้อมูลให้ครบถ้วนเสียก่อน รวมถึงรอประเมินผลประกอบการ ทั้งนี้ การบินไทยจะเสนอแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิม นักลงทุนเฉพาะเจาะจง ผู้บริหาร และพนักงาน คาดขายได้ปลายปีนี้
เฝ้าระวังการอ่อนค่าของเงินบาท
ทั้งนี้ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยยังคงเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ผลจากการอ่อนค่าของเงินบาท อัตราค่าบริการภาคพื้น และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูง ประกอบกับหนี้สินในรูปเงินดอลลาร์เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น และค่าบริการในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสารที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ โดยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อัตราการทำกำไรลดลงได้