ชาญศิลป์ ตรีนุชกร Next Step การบินไทย ปิด 3 ปัจจัยเสี่ยง หนุนโตยั่งยืน

thai
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

กว่า 3 ปีที่ผ่านมา “การบินไทย” ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรพ้นจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มรายได้ ปรับโครงการบริหารลดความซ้ำซ้อน ปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางการบินให้มีกำไรทุกเส้นทาง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหาร รวมถึงปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างและคัดเลือกบุคลากรให้มีความโปร่งใส

ส่งผลให้บริษัทการบินไทย มีผลดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู (ปี 2563) โดยปี 2566 บริษัทมีกำไรถึง 2.8 หมื่นล้านบาท และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ที่ผ่านมามีกำไร 2.7 พันล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในทุกด้าน กระทั่งวันนี้ “การบินไทย” ได้ก้าวสู่โค้งสุดท้ายของแผนฟื้นฟูแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” กรรมการและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงก้าวต่อจากนี้ของการบินไทย กระทั่งออกแผนฟื้นฟูที่คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568 ให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันกับสายการบินใหญ่ระดับโลก ไว้ดังนี้

แข็งแกร่งพร้อมแข่งระดับโลก

“ชาญศิลป์” บอกว่า ตนเข้าร่วมงานกับองค์การการบินไทย ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่แผนฟื้นฟู เมื่อกลางปี 2563 ตั้งแต่เป็นกรรมการ ร่วมทำแผนฟื้นฟู บริหารในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) และร่วมเป็นหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟู

ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง บอร์ดบริหาร ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงเจ้าหนี้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ทำให้การบินไทยสามารถดำเนินงานได้บรรลุตามแผนในทุกส่วน

โดยช่วงกรกฎาคม 2566-มิถุนายน 2567 มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินอยู่ที่ 29,292 ล้านบาท สูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และไม่มีการผิดนัดชำระหนี้

ADVERTISMENT

เรียกว่า วันนี้การบินไทยมีความแข็งแกร่งในด้านการเงินในระดับหนึ่ง และมีศักยภาพในการแข่งขันกับสายการบินรายใหญ่ทั่วโลกแล้ว

เดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟู

และเดินมาถึงช่วงท้ายของแผนฟื้นฟูแล้ว ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกระบวนการออกจากแผนฟื้นฟู คือ ขั้นตอนการทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท

การบินไทยจึงเตรียมดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน โดยรัฐบาลจะแปลงหนี้เป็นทุน 100% ตามภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ

โดยกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 นี้ ซึ่งการบินไทยจะมีทุนที่แข็งแกร่งขึ้น จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าจะสามารถยื่นต่อศาลเพื่อออกจากแผนฟื้นฟูและกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งช่วงกลางปี 2568

เป็นบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้นใหญ่

“ชาญศิลป์” ย้ำว่า การเข้าแผนฟื้นฟูในช่วงโควิด-19 นับเป็นโอกาสของการบินไทยสุด ๆ เพราะวันนี้การบินไทยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีมาก อะไรที่เป็นทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ บริษัทได้บริหารจัดการไปเรียบร้อยแล้ว

เช่นเดียวกับเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม โครงสร้างองค์กรก็คล่องตัวมากขึ้น บริหารจัดการมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างก็สามารถทำได้อย่างดี คล่องตัวและได้สินค้าที่มีคุณภาพและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อเครื่องบิน เครื่องยนต์ แม้กระทั่งอุปกรณ์ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ระบบของ Call Center, ระบบของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ก็ดีขึ้นแล้ว การซื้อขายบัตรโดยสารก็ผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากกว่า 30% แล้ว

ขณะที่องค์กรก็มีคนที่ทันสมัยเข้ามาร่วมงานมากขึ้น และถ้าปลายปีนี้สามารถแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนสำเร็จ ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกสำเร็จก็จะครบเงื่อนไข 4 ข้อ ที่จะออกจากแผนฟื้นฟู

จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเลือกกรรมการและผู้บริหารใหม่ ทำให้การบินไทยก็จะเป็นหนึ่งในบริษัทมหาชน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการเป็นบริษัท “มหาชน” ที่แข่งขันในธุรกิจการบินอย่างเสรี ต้องมีความคล่องตัว มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ และมีผลกำไรที่ยั่งยืน

เร่งปิด 3 ปัจจัยเสี่ยง

ต่อคำถามที่ว่า ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในวันนี้เพียงพอสำหรับวางรากฐาน ทำให้การบินไทยเติบโตและมีกำไรอย่างยั่งยืนในอนาคตหรือยัง “ชาญศิลป์” ตอบว่า ส่วนตัวมั่นใจว่าสถานะของการบินไทยในวันนี้เป็นสายการบินที่มีความสามารถที่จะแข่งขันกับสายการบินใหญ่ ๆ ในระดับโลกได้แบบไม่น้อยหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากการบินไทยมีเซอร์วิสที่แข็งแกร่ง มีซอฟต์พาวเวอร์ที่ดี มีซิกเซนส์ของการให้บริการ รวมถึงมีอาหารและเครื่องดื่มที่มีมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยงของธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของ Geopolitics (ภูมิศาสตร์การเมืองโลก) ที่ส่งผลกระทบถึงราคาน้ำมัน

โดยปัจจุบันการบินไทยได้พยายามปิดจุดเสี่ยงใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ราคาน้ำมัน โดยพยายามปิดปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน โดยดูวิธีการว่าจะล็อกราคาอย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะการบินไทยเป็นหนี้เขา แต่ตอนนี้การบินไทยกำลังหาช่องทางและเริ่มที่จะสามารถดำเนินการได้แล้ว

2.ปัจจัย “ค่าเงิน” เนื่องจากการบินไทยมีหนี้ที่ต้องจ่ายเป็น เงินเหรียญสหรัฐจำนวนมาก หากเงินบาทอ่อนค่ามาก ๆ ก็จะทำให้บริษัทขาดทุนได้ แต่หากค่าบาทแข็งเราก็จะค่อนข้างได้ประโยชน์

“สถานการณ์ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งเป็นผลดีกับเรา แต่ว่าค่าเงินบาทขึ้น ๆ ลง ๆ หรือแกว่งมากเกินไปก็จะบริหารจัดการยาก เราต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ความเสี่ยงนี้น้อยลง เราก็ต้องไปทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน เพื่อไม่ให้ขาดทุนเยอะเช่นเดียวกับการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน”

และ 3.การพัฒนาคนรุ่นต่อรุ่น ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าห่วงและจำเป็นต้องเร่งพัฒนา ต้องมีการสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะเชื่อว่าแม้ว่าเราจะมีอุปกรณ์ที่ดีอย่างไรก็ตาม ถ้าคนเราไม่เก่ง ไม่แข็งแกร่งก็จะไปต่อได้ไม่ดี

“การบินไทยไม่มีคนที่เข้ามาร่วมงานนานเป็น 10 ปี เนื่องจากภาวะขาดทุน ตอนนี้คนที่อยากเข้าทำงานการบินไทยที่เก่ง ๆ ดี ๆ เริ่มจะเข้ามาแล้ว ทั้งในส่วนของลูกเรือ กัปตัน ผมจึงมองว่าโอกาสของการบินไทยจะสดใส แต่เราต้องรักกัน ช่วยกัน สามัคคีกัน ใช้สติปัญญาร่วมกัน และทำงานให้มีโซลูชั่นให้กับการบินไทย”

เร่งพัฒนาโปรดักต์รองรับดีมานด์

“ชาญศิลป์” ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้อีก 3-5 ปี การบินไทยจะเริ่มมีเครื่องบินใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ตามแผนจัดหาเครื่องบิน เช่น A321 นีโอ B787 ซึ่งจะทยอยเข้ามาตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป เครื่องบินที่มีอายุเยอะก็จะถูกปลดออกไป ฝูงบินของการบินไทยก็จะมีความทันสมัยและมีอายุการใช้งานเฉลี่ยลดลง ถึงวันนั้นเราจะกลับมาได้อย่างภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้การบินไทยก็พยายามพัฒนาและปรับปรุงเครื่องบินในทุกส่วน ทั้งที่เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ อาหาร ฯลฯ เพื่อรองรับกับดีมานด์ในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพยายามจัดหาเครื่องบินเข้ามาเสริมฝูงบินเป็นระยะด้วย

ตั้งเป้าฮับขนส่ง-ศูนย์ซ่อม

“ชาญศิลป์” ยังพูดถึงเป้าหมายในระยะยาวว่า การบินไทยตั้งเป้าเป็นฮับของการขนส่งผู้โดยสาร ขนส่งสินค้า และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยในส่วนของการขนส่งผู้โดยสารนั้น ปัจจุบันสามารถทำได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพขึ้น

ส่วนการขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้ ที่ผ่านมาบริษัทท่าอากาศยานไทยมีนโยบายให้ทำคาร์โก้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าของไทยทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ ก็ต้องการคอนเน็กต์ต่อไปยุโรป ออสเตรเลีย นอร์ทเอเชีย ฯลฯ หากการบินไทยมีฮับของคาร์โก้ขนาดใหญ่ และบริหารเที่ยวบินให้เชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าตลาดยังมีช่องว่างและมีโอกาสอีกมาก

เช่นเดียวกับศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ปัจจุบันการบินไทยมีศูนย์ซ่อมขนาดใหญ่อยู่ที่ดอนเมือง นอกจากจะรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินของตัวเองแล้ว ยังรับซ่อมบำรุงให้กับสายการบินพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย และการบินไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจากับ EEC เพื่อลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุงอีกโครงการด้วย

จากทิศทางดังกล่าวนี้มั่นใจว่าหากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งท่าอากาศยานไทย สำนักงานการบินพลเรือน วิทยุการบิน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอื่น ทั้งผู้บริหารแผนผู้บริหาร และพนักงานให้การสนับสนุน การบินไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน