
เปิดตัวเลขรายรับ-รายจ่าย ‘ธุรกิจปางช้าง’ จากปาก โจ-วนชาติ Thaielephanthome และ วาสนา ทองสุข แห่งแม่แตง
กระแสดราม่าน้ำท่วมและความลำบากยากเย็นของช้างกินพื้นที่ข่าวในโลกออนไลน์ตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
‘ประชาชาติ’ พาไปคุยกับ โจ – วนชาติ บูรพาเกียรติ เจ้าของปางช้าง Thaielephanthome จ.แม่ฮ่องสอน และ วาสนา ทองสุข เจ้าของปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่ ในมุมธุรกิจ รายรับ-รายจ่าย การช่วยเหลือจากภาครัฐ ความเสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงบทเรียนที่ทั้งคู่เรียนรู้
ปางช้าง Thaielephanthome
วนชาติเล่าว่า เริ่มต้นทำปางช้างมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยความคิดอยากเปลี่ยนภาพจำจากการให้นักท่องเที่ยวนั่งเสลี่ยงมาเป็นนั่งบนคอช้างแทน จึงกลายมาเป็นธุรกิจปางช้างที่แหวกแนวจากเดิม ซึ่งช่วงสองปีแรกนั้นไม่มีรายได้เข้ามาเลย วนชาติจึงจำเป็นต้องนำเงินของตัวเองมาใช้จ่ายดูแลช้าง ต่อมาในช่วงปีที่ 3-4 ก็เริ่มมีรายได้มากขึ้น ก่อนที่จะกลับมาขาดทุนในช่วงสามปีการระบาดของโควิด-19 แต่ก็พยายามประคองธุรกิจเรื่อยมาจนปัจจุบัน
สำหรับรายได้ของปางช้างนั้น วนชาติกล่าวว่า ได้มาจากนักท่องเที่ยว 100% โดยทางปางจะจัดโปรแกรมให้ได้ใกล้ชิดกับช้างตามระยะเวลา ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง สนนราคา 2,000 บาท ไปจนถึงระยะเวลา 1 วัน ราคา 4,900 บาท
ช่วงไฮซีซั่นรายได้รวยโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 700,000-800,000 บาท หากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น กันยายน-ตุลาคม รายได้จะอยู่ที่ 200,000-300,000 บาท
นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มาใช้บริการมากที่สุดและยังกลับมาท่องเที่ยวซ้ำหลายครั้ง ต่างจากนักท่องเที่ยวชาวอเมริกาและฝั่งยุโรปที่ลดน้อยลง จากเหตุผลเรื่องระยะเวลาในการเดินทาง และมุมมองต่อการนั่งเสลี่ยงขี่ช้าง ผ่านการควบคุมโดยอุปกรณ์อย่างมีด ตะขอ หรือโซ่
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของปางช้างนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 บาท แบ่งได้ดังนี้
- ค่าอาหาร 300 บาทต่อวันต่อเชือก จำนวน 18 เชือก
- ค่ายาและการรักษาพยาบาล กรณีที่ช้างเข้าโรงพยาบาล
- ค่าพนักงาน 30 คน ได้แก่ ไกด์, แม่บ้าน, ควาญ และคนขับรถ
“รายได้ควาญช้างเริ่มที่ 8,000 สูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการมีส่วนร่วมกับงานอื่นๆ”
ส่วนค่ารักษาช้างหรือยานั้นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่น่ากังวล เนื่องจากมีการสนับสนุนจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และสมาคมสหพันธ์ช้างไทย แต่หากต้องนำช้างไปรักษาที่โรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อาทิ การขนส่งและค่ารักษาพยาบาล
วนชาติบอกว่า ธุรกิจปางช้างไม่ใช่ทางเลือกที่ก้าวหน้าแต่ด้วยความผูกพันกับช้างตั้งแต่เด็ก ทำให้เลือกที่จะประคองปางช้างนี้ต่อไป นอกจากนี้ยังอยากให้หน่วยงานรัฐอนุญาตให้สามารถนำช้างไปเลี้ยงในพื้นป่าได้ เนื่องจากโมเดลธุรกิจไม่ได้มีกำไรเหลือเฟือจะซื้อที่ดินซึ่งมีราคาสูงขึ้นทุกวัน
“อยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่ของช้างที่ไม่เพียงพอด้วยครับ” วนชาติเรียกร้อง
31 ปีแม่แตง เคยแตะล้านต่อวัน
‘วาสนา ทองสุข’ เล่าว่า ปางช้างแม่แตงเปิดมาตั้งแต่ปี 2536 เป็นธุรกิจครอบครัวที่ร่วมมือกันกับพี่น้องอีกสามคน ในช่วง 4-5 ปีแรกไม่ได้มีรายได้เข้ามาจนต้องควักเงินส่วนตัวมาจุนเจือ กระทั่งเข้าปีที่ 7 ธุรกิจเริ่มอยู่ในจุดที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้
จุดรุ่งเรืองเกิดขึ้นในช่วงปี 2556 ที่ได้รับอิทธิพลจาก Lost in Thailand ภาพยนตร์จีนที่มาถ่ายทำในไทย ทำให้ปางช้างมีรายได้แตะ 1,000,000 บาท/วัน
ปัจจุบันปางช้างแม่แตงมีจำนวนช้างมากถึง 54 เชือก จัดโปรแกรมให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมตั้งแต่ชมการแสดง นั่งเกวียน นั่งเสลี่ยง บริการอาหาร ล่องแพ และเยี่ยมชมหมู่บ้านชนเผ่า ในราคาตั้งแต่ 1,600-1,900 บาท
พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปมักจะเลือกเข้ามาใช้บริการในช่วงเช้า 7.00-10.00 น. ขณะที่นักท่องเที่ยวฝั่งเอเชีย เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เลือกใช้บริการในช่วงสายตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป
ช่วงโลว์ซีซั่น กันยายน-ตุลาคม ‘ปางช้างแม่แตง’ มีนักท่องเที่ยวราว 200-300 คน/วัน สร้างรายได้ 300,000-400,000 บาท/วัน ขณะที่ในช่วงไฮซีซั่น พฤศจิกายนเป็นต้นไป มีรายได้มากถึง 600,000-700,000 บาท/วัน
“เดือนกั๊นอยาก(อดยาก) กับเดือนตุ๊กยาก(ทุกข์ยาก)” เธออู้กำเมืองถึงช่วงโลว์ซีซั่น
ทั้งนี้แม้ตัวเลขรายได้ของปางช้างแม่แตงจะสูง แต่ด้วยความเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ตัวเลขรายจ่ายจึงสูงตามไปด้วย โดยค่าใช้จ่ายของปางช้างแม่แตงแบ่งออกเป็น
- ค่าอาหารช้าง 500 บาท/วัน/เชือก (54 เชือก)
- ค่าจ้างพนักงาน 600 คน รวมกว่า 4,000,000 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พักและค่าอาหาร)
- ค่าจ้างควาญเริ่มต้นเดือนละ 10,000-20,000 บาท รายได้พิเศษ 5,000 บาท (ไม่รวมทิป)
- ค่ายารักษาพยายาล บางเคสสูงถึงหลักแสนบาท
ทั้งนี้ปางช้างแม่แตงได้เปิดคลินิกเพื่อรับรักษาช้างในอำเภอแม่แตงฟรี โดยนำเงินที่ได้จากการประมูลภาพวาดของช้างมาจ่ายเป็นค่ายารักษาช่วยเหลือช้างที่เจ็บป่วย
เสียหาย 3 ล้าน อนาคตลุยต่อ
สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือสร้างความเสียหายให้กับหลายจังหวัด รวมถึงปางช้างแม่แตงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ วาสนาเล่าว่า บ้านพักพนักงาน, อาคาร, ปั้มน้ำ, แท็งก์น้ำ, สะพาน และแพ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนโรงนอนของช้าง ภายหลังน้ำลดได้ทิ้งไว้ซึ่งโคลนหนากว่า 1 เมตร ต้องจ้างรถน้ำแรงดันสูงมาทำความสะอาด เพื่อฟื้นฟูและกลับมาเปิดให้บริการได้เร็วที่สุด
เธอประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมความเสียหายในครั้งนี้ไว้ที่ 3,000,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับความเสียหายจากน้ำท่วมในอดีตที่ผ่านมา
“น้ำท่วมทุกปี แต่ปีนี้มันสูงกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง”
หลังจากนี้วาสนาจะย้ายบ้านพักของพนักงานไปอยู่ในพื้นที่ที่สูงขึ้น ขณะที่อยู่อาศัยของช้างนั้นไม่สามารถย้ายได้ เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องโฉนดที่ดินและอื่น ๆ สิ่งที่ต้องประเมินคือ การรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตอย่างทันท่วงทีเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดต่อตัวธุรกิจ