บูมเที่ยวข้ามแดน “มาเลย์-ลาว” ตอบโจทย์เพิ่มรายได้ท่องเที่ยวไทย

Phattharanon
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

จากนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ASEAN Hub การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หน่วยงานการตลาดที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศจึงเดินหน้ากระตุ้นการเดินทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางคมนาคมที่หลากหลาย ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์ “ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงแนวทางการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกัน เพื่อตอบโจทย์ความเป็น ASEAN Hub ดังนี้

ปลุกเที่ยวชายแดนหนุน

“ภัทรอนงค์” บอกว่า การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวผ่านช่องทางคมนาคมที่หลากหลายระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการท่องเที่ยว เพื่อการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Asean Connectivity) ของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านของภูมิภาคอาเซียน

โดยปกตินักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางทางอากาศ แต่หลังจากโควิดการเดินทางทางอากาศมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทั้งขาดแคลนเครื่องบิน ขาดแคลนบุคลากร เมื่อจำนวนที่นั่งเครื่องบินไม่เพียงพอ การเพิ่มนักท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องที่ยาก

ททท.จึงหันมาโฟกัสส่งเสริมและกระตุ้นการเดินทางข้ามชายแดน หรือ Cross-border Tourism ทางบก (รถยนต์, รถไฟ) โดยเฉพาะระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-สปป.ลาว

โฟกัส “มาเลเซีย-ลาว”

“ภัทรอนงค์” บอกด้วยว่า เพื่อให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ททท.ได้คิกออฟโครงการเพื่อปลุกกระแสด้วยการจับมือกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ มาเลเซีย ส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน (Cross-border) และเปิดตัวคู่มือแผนที่เส้นทางขับรถเที่ยว Self-Drive กระตุ้นการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวขับรถข้ามชายแดน 2 ประเทศเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา และมีแผนขยายไปยังด่านอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับมาเลเซียต่อไป

Advertisment

“ปัจจุบันด่านชายแดนที่ติดกับมาเลเซียนั้น ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเท่านั้นที่เดินทางเข้ามา ยังมีนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ที่นิยมขับรถเที่ยวทะลุเข้ามาในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยเราด้วย”

ขณะที่ทางราง ททท.ก็ได้ริเริ่มผลักดันการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ จากกัวลาลัมเปอร์ตรงไปยังสถานีหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับการรถไฟมาลายา หรือ KTMB ให้บริการขนส่งนักท่องเที่ยวโดยรถไฟ KTM Electric Train Service (ETS) ซึ่งให้บริการจากสถานี KL Sentral ไปยังสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ รัฐปะลิส และเชื่อมต่อมาที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

Advertisment

รวมถึงจัด Charter Train ชื่อ My Sawasdee ในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ รองรับผู้โดยสารได้ถึงเที่ยวละ 400 คน โดยจะเปิดให้บริการในช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลเฉลิมฉลองพิเศษ ซึ่ง ททท.มีแผนที่จะส่งเสริมเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่เปิดให้บริการเป็นประจำเพิ่มขึ้นต่อไป

เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว ซึ่งมีชายแดนติดกัน และมีสะพานและด่านผ่านแดนถึง 4 แห่ง และกำลังจะเปิดบริการเพิ่มอีก 1 แห่ง รวมถึงมีรถไฟความเร็วสูงจากจีน (คุนหมิง) เข้ามาถึงเวียงจันทน์ และจากเวียงจันทน์สามารถเปลี่ยนมานั่งรถไฟถึงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ของไทยได้แล้ว

กระตุ้นการเดินทางทุกรูปแบบ

สำหรับรูปแบบการส่งเสริมการดำเนินการท่องเที่ยวแบบ Cross-border Tourism ทั้งมาเลเซียและสปป.ลาว นั้น “ภัทรอนงค์” บอกว่าจะมีทั้งกิจกรรมขับรถเที่ยวด้วยตัวเอง และคาราวานรถยนต์ รถซูเปอร์คาร์ รวมถึงมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบก์ ฯลฯ

โดยในส่วนของกลุ่มขับรถเที่ยวด้วยตัวเอง หรือ Self-Drive นั้น ในเบื้องต้นคาดหวังให้ตลาดมาเลเซียได้เข้ามาถึงในทุกจังหวัดภาคใต้ของไทย และในส่วนของ สปป.ลาว ก็คาดหวังให้นักท่องเที่ยวลาวและจีนเข้ามาถึงทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน

“เป้าหมายลึก ๆ ของเราคือ อยากให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาเที่ยวได้แบบทะลุทะลวงได้หมด เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวยุโรป หากมีวีซ่ายุโรป หรือเชงเกนวีซ่า ก็สามารถเที่ยวได้ทุกประเทศ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนเราก็อยากให้มีวีซ่าเดียวแล้วเดินทางได้ทุกประเทศ หรือที่เราเคยผลักดันอาเซียนวีซ่ามาก่อนหน้านี้เช่นกัน”

เตรียมอัด “พริวิเลจ” จูงใจ

“ภัทรอนงค์” บอกอีกว่า ความร่วมมือกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ มาเลเซีย ในสเต็ปแรกนี้ยังเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวข้ามแดนแบบเดินทางด้วยตัวเอง โดยผ่าน Fun Map ที่นำเสนอเดสติเนชั่นหลัก และให้ข้อมูลว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรบ้างที่อยู่บนเส้นทางที่เป็นทางผ่านไปเดสติเนชั่นหลักของทั้ง 2 ประเทศเป็นหลัก

แต่ในสเต็ปต่อไป ททท.มีแผนจะวางเส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ พร้อมทั้งนำเสนอส่วนลดพิเศษ หรือพริวิเลจ จากโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีแผนเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหาในประเด็นที่เป็นข้อจำกัดของการเดินทางในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ตารางเดินรถไฟที่ยังเชื่อมต่อไม่ตรงกัน เป็นต้น

อานิสงส์ยกเว้น ตม.6

รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท.บอกด้วยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการยกเว้นใบ ตม.6 จำนวน 16 ด่านชายแดน สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านทางบกและทางน้ำเมื่อ 15 เมษายน 2567-15 ตุลาคม 2567 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (มาเลเซีย, ลาว) ที่เดินทางผ่านด่านชายแดนมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยล่าสุดที่ประชุม ครม. เมื่อ 15 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติต่อมาตรการดังกล่าวอีกครั้งไปจนถึง 30 เมษายน 2568 บวกกับแผนการส่งเสริมและกระตุ้นการเดินทางข้ามชายแดน หรือ Cross-border Tourism ทางบกจะยิ่งเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียและ สปป.ลาว มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ตอบโจทย์ “รายได้รวม”

“ภัทรอนงค์” บอกอีกว่า ยอมรับว่าสัดส่วนการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวมาเลเซียและลาวนั้น เป็นอานิสงส์จากมาตรการการยกเว้น ตม.6 เพราะทำให้นักท่องเที่ยวสะดวก และตัดสินใจเดินทางง่ายขึ้น เมื่อบวกกับอัตราค่าโดยสารสายการบินที่ยังสูง ยิ่งทำให้การเดินทางข้ามชายแดน (Cross-border) ได้รับความนิยมมากขึ้น

ที่สำคัญ มองว่าการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวผ่านช่องทางคมนาคมที่หลากหลายระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะทำให้ ททท.ดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดได้บรรลุตามเป้าของรัฐบาล

และตอบโจทย์ในเรื่องการเพิ่ม “ความถี่” และ “จำนวนวันพัก” ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่ม “รายได้รวม” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2568 ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้