‘ไฮสปีด’ เชื่อม 3 สนามบินไม่คืบ UTA ไม่รอเตรียมแผน 2 ขอแก้ไขสัญญา

U-Tapao

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” นายใหญ่บางกอกแอร์เวย์ส เร่ง EEC สรุปความชัดเจนรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เกิดหรือไม่เกิดกันแน่ เผย UTA ใส่เงินลงทุนล่วงหน้าไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท กลางปีหน้าจะครบเงื่อนไขสัญญา 5 ปีเฟสแรก แต่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินตะวันออกยังเดินหน้าไม่ได้ จี้ขอข้อสรุปภายในไตรมาส 1/68 เดินหน้าแผน 2 ขอแก้ไขสัญญา พร้อมปรับรูปแบบการลงทุนใหม่

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ในฐานะผู้ร่วมทุนในบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกที่ลงทุนการผ่านบริษัทร่วมทุน UTA ไปแล้ว รวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งจัดทำแผนพัฒนา ออกแบบโครงการ จ้างที่ปรึกษา ประสานงานด้านผลกระทบ รวมถึงทำงานร่วมกับกองทัพเรือ ฯลฯ

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

เร่ง EEC สรุปรถไฟ 3 สนามบิน

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า เนื่องจากโครงการดังกล่าวผูกติดไว้กับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และผู้ร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน NTP ได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา UTA ได้พยายามคุยกับทางสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อหาข้อสรุปความคืบหน้าของโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินว่าจะสามารถเดินหน้าได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อหาทางออกให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขอบทสรุปภายใน Q1/68

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกที่ทางกลุ่ม UTA ทำสัญญาดำเนินการนั้นเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นจากพื้นฐานของการมีรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน โดยวางแผนให้เมืองการบินตะวันออกเป็นเมืองเอ็นเตอร์เทนเมนต์ สร้างแม็กเนตใหม่ ๆ ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า เอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่าง ๆ สถานที่รองรับการแสดงโชว์ระดับโลก ฯลฯ โดยใช้แนวทางของดิวตี้ฟรี หรือพื้นที่ปลอดอากร

โดยมองว่ารถไฟไฮสปีดจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนและขนคนเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงรองรับความหนาแน่นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วย ซึ่งแผนการพัฒนาจะต้องสอดรับกับศักยภาพการรองรับของสนามบินอู่ตะเภา ที่ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 8-10 ล้านคนในเฟสแรก และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนตามเงื่อนไขสัญญาพัฒนา 50 ปี

ADVERTISMENT

“เราอยากได้สรุปภายในไตรมาส 1/2568 เพราะเงื่อนไขการดำเนินการโครงการในสัญญาใกล้จะครบกำหนด 5 ปี ในเดือนมิถุนายน 2568 แล้ว แต่จนถึงวันนี้เรายังเริ่มคิกออฟโครงการไม่ได้” นายพุฒิพงศ์กล่าว

เตรียมแผน 2 ขอแก้สัญญา

นายพุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทาง UTA ได้เตรียมทำแผน 2 เพื่อเป็นแผนสำรองแล้ว หากท้ายสุดแล้วโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินไม่สามารถเกิดขึ้นจริง โดยมีแผนจะขอเจรจาเพื่อปรับเงื่อนไขการลงทุนใหม่ รวมถึงตัวเลขเงินลงทุนและมาประเมินอีกครั้งว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้เมื่อไหร่ อย่างไรต่อไป

ADVERTISMENT

“ถ้าโครงการรถไฟไฮสปีดไม่เกิดขึ้น แน่นอนว่าจะมีผลโดยตรงต่อพาร์ตเนอร์ที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบทำให้การหาแหล่งเงินทุนยากขึ้นด้วย” นายพุฒิพงศ์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเฟสแรกของการลงทุนน่าจะใช้เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท

9 เดือนรายได้ผู้โดยสารโต 26%

สำหรับในส่วนของบริษัท การบินกรุงเทพ หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์สนั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า มีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมการบินโลก โดยภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสาร 3.31 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และเป็นสัดส่วน 75% ของช่วงก่อนโควิด มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร 82% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 จุด เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ 68%

และรายได้ผู้โดยสาร 14,006 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วน 96% ของช่วงก่อนโควิด-19 โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ถึงศักยภาพของบางกอกแอร์เวย์สที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี 2567 ได้แน่นอน

“ในด้านของจำนวนผู้โดยสารพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวน 3.31 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 10% จำนวนเที่ยวบิน 36,358 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9% อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82% เพิ่มขึ้น 2% รายได้จากผู้โดยสาร 14,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%”

บุ๊กกิ้งตั๋วล่วงหน้า 6 เดือนพุ่ง

นายพุฒิพงศ์กล่าวอีกว่า เพื่อตอบรับดีมานด์การเดินทางที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง บริษัทจึงเน้นเส้นทางที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และทำกำไร และเพิ่มความถี่เที่ยวบินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาระดับอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ให้อยู่ในเกณฑ์ดี

“ตอนนี้เรามียอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าต่อเนื่องจนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ที่มีอัตราการจองเติบโต 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนภาพรวมการท่องเที่ยวช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 นี้ได้เป็นอย่างดี” นายพุฒิพงศ์กล่าว

เร่งเสริมฝูงบิน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันบริษัทได้ทยอยกลับมาให้บริการเส้นทางบินที่เคยปฏิบัติการบินในช่วงก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเส้นทางบินสมุย-กัวลาลัมเปอร์ ในไตรมาส 4 ปี 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางและเป็นจุดเชื่อมต่อผู้โดยสารจากยุโรปเดินทางเข้าเกาะสมุย

“ในปลายปีนี้เราได้จัดหาเครื่องบินรูปแบบ Wet Lease จำนวน 2 ลำ โดยเริ่มทำการบินระหว่างเดือนธันวาคม 2567-เมษายน 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นช่วงไฮซีซั่น และมีแผนเพิ่มเครื่องบินมาเสริมฝูงบินอีก 2 ลำในปีหน้า” นายพุฒิพงศ์กล่าว