กว่า 4 ปีแล้วที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง วันนี้ “การบินไทย” กลับมาพลิกฟื้น มีผลการดำเนินงานที่สร้าง “กำไร” ต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีรายได้รวม 1.61 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ปีนี้การบินไทยมีรายได้รวม 135,810 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท
เจ้าหนี้ใจฟูแห่แปลงหนี้เป็นทุน
สะท้อนว่าการบริหารจัดการของคณะผู้บริหารแผนและผู้บริหารการบินไทยมีแนวโน้มดีชัดเจนและต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ “กระทรวงการคลัง” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีสัดส่วนหุ้นถึง 47.9% (ก่อนปรับโครงสร้างทุน)
ล่าสุดกระบวนการแผนฟื้นฟูเดินมาถึงขั้นตอนของการทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก โดย ณ 30 กันยายน 2567 ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจยังติดลบ 27,825 ล้านบาท แนวทางคือ การแปลงหนี้เป็นทุน (ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น) และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 9,822,473,626 หุ้น (ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น)
ด้วยผลประกอบการที่โดดเด่นนี้ทำให้ในขั้นตอนการแปลงหนี้เป็นทุนเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น ทั้งจากเจ้าหนี้กระทรวงการคลัง เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และหุ้นกู้
โดยกระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่ใช้สิทธิแปลงหนี้ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2563 เป็นทุน 100% ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูตั้งแต่แรก ส่วนเจ้าหนี้ธนาคารและหุ้นกู้ก็ได้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน 24.5% ตามที่ระบุไว้ในแผนเช่นกัน
รวมมูลค่าแปลงหนี้ตามแผนภาคบังคับเป็นทุนเท่ากับ 3.76 หมื่นล้านบาท
คลังรุกคืบผ่าน “วายุภักษ์”
ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงการคลังยังขอปรับแก้ไขแผนด้วยการขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน คือ “ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ “พลจักร นิ่มวัฒนา” รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ซึ่งผ่านการโหวตของที่ประชุมเจ้าหนี้ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (รอศาลพิจารณาเห็นชอบ 12 ธันวาคม 2567)
ล่าสุดรุกคืบหนักด้วยการเตรียมซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทการบินไทยตามแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนมูลค่าทั้งหมด 9,822,473,626 หุ้น จำนวน 4,000 ล้านหุ้น โดยผ่าน “กองทุนวายุภักษ์” ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดให้แสดงเจตจำนงระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567
เนื่องจากแผนฟื้นฟูระบุไว้ว่า ให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมเป็นอันดับแรก หากเหลือจะให้กับพนักงานการบินไทย และหากยังเหลือก็จะเสนอขายให้บุคคลในวงจำกัด หรือ Private Placement ตามลำดับ
นั่นหมายความว่า กระทรวงการคลังเองก็มีสิทธิเพิ่มทุนได้อีกตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่ทำให้สัดส่วนของกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจเกิน 50% เพื่อไม่ให้การบินไทยกลับไปเป็น “รัฐวิสาหกิจ” เหมือนในอดีต
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
แหล่งข่าวในการบินไทยรายหนึ่งบอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปฏิบัติการรุกเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังในโค้งสุดท้ายของแผนฟื้นฟูนี้ นับเป็น Take Action ครั้งใหญ่ และเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้น
และแผนดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ “การบินไทย” ในอนาคตแน่นอน
ขณะที่ “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 1 ในผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้มีความพยายามอย่างมากในการช่วยขับเคลื่อนให้การบินไทยกลับมาผงาดในน่านฟ้าใหม่ให้ได้ โดยได้ร่วมทำแผนกับคณะผู้ทำแผน รวมถึงมีการพูดคุยกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ มาตั้งแต่เริ่มกระบวนการฟื้นฟู
โดยเป็นเจ้าหนี้ “รายเดียว” ที่ตกลงว่าจะแปลงหนี้เป็นทุน 100% ซึ่งสะท้อนชัดเจนแล้วว่ากระทรวงการคลังเล็งเห็นความสำคัญของการบินไทย
อย่างไรก็ตาม ตามแผนพื้นฟูได้ระบุไว้แล้วว่า ไม่ให้ภาครัฐถือหุ้นต่ำกว่า 25% และในการปรับโครงสร้างทุนหรือเพิ่มทุนนั้นจะต้องไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายถึงต้องถือหุ้นต่ำกว่า 50%
ลั่นพร้อมสนับสนุนเต็มที่
พร้อมย้ำว่า การบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกแน่นอน จะเป็นบริษัทเอกชนซึ่งมีกรรมการที่มาจากผู้ถือหุ้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีทีมบริหาร (ชุดปัจจุบัน) ขับเคลื่อน และทำงานควบคู่กับกรรมการชุดใหม่ที่จะมีการแต่งตั้งเข้ามาในอนาคต
โดยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น พร้อมที่จะสนับสนุนการบินไทยอย่างเต็มที่ และร่วมผลักดันให้การบินไทยก้าวสู่วิสัยทัศน์ใหม่ที่ว่า “การบินไทย สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ” ให้ได้
แหล่งข่าวในการบินไทยบอกด้วยว่า จากการให้สัมภาษณ์ของ “พรชัย ฐีระเวช” นี้ส่งสัญญาณชัดว่า กระทรวงการคลังมี “บทเรียน” และ “เจ็บปวด” จากการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่ถูกแทรกแซงจากการเมือง และจะไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็น “รัฐวิสาหกิจ” เหมือนในอดีตเช่นกัน
ย้ำเป็นเอกชนมีคลังถือหุ้นใหญ่
แหล่งข่าวในบริษัทการบินไทยอีกรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหนี้หลายฝ่ายตั้งคำถามมากมายต่อการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของการบินไทย โดยเฉพาะการทยอยเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังว่าจะทำให้องค์กรการบินถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองเหมือนในอดีต
ประเด็นนี้ขอให้ทุกฝ่ายวางใจ เพราะในแผนฟื้นฟูระบุไว้ชัดเจนว่า การบินไทยจะต้องไม่กลับไปเป็น “รัฐวิสาหกิจ” โดยสัดส่วนการถือครองหุ้นของกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจจะต้องต่ำกว่า 50%
เรียกว่า มีสถานะเป็นบริษัทเอกชน ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศ
“สถานะของบริษัทการบินไทยในขณะนี้เป็นเหมือนองค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ทั่วไป ความพยายามในการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังก็เป็นเรื่องปกติตามหลักบริหารทั่วไปที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อยากเข้ามาควบคุมดูแล ซึ่งเป็นบวกมากกว่าลบ”
ชี้โอกาสคลัง “ได้ทุนคืน”
แหล่งข่าวรายนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่า หากย้อนประวัติศาสตร์ของการบินไทยจะพบว่า กระทรวงการคลังได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ปี 2531 ในสมัยรัฐบาล “พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี
นั่นหมายความว่า กระทรวงการคลัง “เสียหาย” มหาศาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยมายาวนานกว่า 30 ปี
และแน่นอน ต้องชื่นชมหลักคิดของรัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น ที่มีดำริให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะหากปล่อยให้ “ล้มละลาย” เท่ากับว่ากระทรวงการคลังจะเสียหายตามมูลค่าหนี้ที่สูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาททันที
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของกระทรวงการคลัง คือทำให้การบินไทยกลับมาฟื้นอีกครั้งโดยใช้กลไกของศาลล้มละลาย พร้อมส่งตัวแทนเข้ามาร่วมเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูตั้งแต่เริ่มต้น
พร้อมให้ข้อมูลอีกว่า ในกระบวนการตอนนี้การบินไทยจะมีเงินจากการแปลงหนี้เป็นทุนภาคบังคับ 37,601.9 ล้านบาท การแปลงหนี้ตามแผนเป็นทุนเพิ่มเติม 12,500.5 ล้านบาท และการแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุน 3,351.2 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมด 53,453.2 ล้านบาท
ตัวเลขทุน ณ สิ้นไตรมาส 3 การบินไทยมีทุนติดลบราว 27,000 ล้านบาท ดังนั้นแผนการแปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมดจะทำให้ทุนเป็นบวกประมาณ 18,000 ล้านบาท (ไม่รวมผลประกอบการไตรมาส 4/2567)
สะท้อนชัดเจนว่า สิ้นปี 2567 นี้ “การบินไทย” จะมีทุนเป็นบวก และออกจากแผนฟื้นฟู รวมถึงกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงกลางปี 2568 ตามเป้าหมายแน่นอน
ปฏิบัติการรุกเพิ่มทุนใน “การบินไทย” ของกระทรวงการคลังครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการ “ได้ทุนคืน” หลังจากที่เสียหายมหาศาลมานาน