อพท.อัดกิจกรรมพื้นที่พิเศษ หวังกระจายรายได้ลงชุมชน

อพท.ต่อยอดวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ปูพรม 39 กิจกรรมใน 6 พื้นที่พิเศษ หวังใช้การท่องเที่ยวเพิ่มคุณค่าสร้างเป็นมูลค่ากระจายรายได้ลงสู่ชุมชน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) เปิดเผยว่า อพท.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เริ่มมีกระแสนิยม เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ทำให้นักท่องเที่ยวและเจ้าของชุมชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เชิดชู “คุณค่า” ของวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน สร้างแรงจูงใจนักท่องเที่ยวอยากเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตที่จริงแท้ของชุมชน และการท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นจากอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในสภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โดยที่ผ่านมา อพท.ได้ทยอยพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไปแล้วในหลายพื้นที่พิเศษ ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และพื้นที่พิเศษเลย โดยมีเป้าหมาย 39 กิจกรรมใน 6 พื้นที่พิเศษ

ทั้งนี้กิจกรรมที่กำหนดขึ้นนี้จะสามารถเป็นต้นแบบของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การขยายเครือข่ายกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่พิเศษ และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ระหว่างพื้นที่พิเศษของ อพท.ต่อไป

สำหรับพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท.ได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รวม 6 กิจกรรม ได้แก่ เรียนรู้การทำโคมไฟ บ้านม่วงตึ๊ด ต.ภูเพียง อ.ภูเพียง เรียนรู้การแกะสลักพระไม้ วัดมหาโพธิ์ ต.เวียงเหนือ อ.เมืองน่าน เรียนรู้การทำตุงค่าคิง ชุมชนวัดพระเกิด ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เรียนรู้การปักผ้าหน้าหมอน โฮงเจ้าฟองคำ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เรียนรู้การทำผ้าห่มตาโก้ง บ้านนาซาว ต.นาซาว อ.เมืองน่าน และเรียนรู้การจักสาน บ้านต้าม ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน

“กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ อพท.พัฒนาขึ้นมาจากอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชุมชนนั้น ประโยชน์ทางตรงคือชุมชนเกิดการฟื้นฟูภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมให้เกิดการสืบทอด คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่า ซึ่งจะนำมาซึ่งมูลค่า ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือ ชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการที่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวและลงมือทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และยังได้ประโยชน์ในมิติทางสังคม คือการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชน เพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว”

อย่างไรก็ตาม อพท.มีความมั่นใจว่าประโยชน์ของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จะสามารถเป็นเครื่องมือให้ชุมชนได้มีโอกาสในการใช้สิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวด้วยตนเอง กำหนดและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และที่สำคัญสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยตนเอง และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น พร้อมกับสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวและชุมชนได้ร่วมกันจัดการการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อชุมชน