บินไทยเร่งปั๊มรายได้ฝ่ายช่าง ผนึกโรลส์-รอยซ์ปั้นศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์

เพิ่มศักยภาพ - การบินไทยต่อยอดรายได้ฝ่ายซ่าง โดยลงนามความร่วมมือกับบริษัท โรลส์-รอยซ์ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ของการบินไทย ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยใช้โรงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยานของการบินไทยที่มีอยู่แล้ว (ภาพจาก : www.skyscrapercity.com)
“การบินไทย” ผนึกความร่วมมือ “โรลส์-รอยซ์” ปักธงดอนเมือง จัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ คาดเบื้องต้นใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท ตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มอีก 4-5 พันล้านได้ในปี”63 พร้อมหนุนรายได้ฝ่ายช่างของการบินไทยแตะ 8 พันล้าน

 

นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท โรลส์-รอยซ์ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทย เพื่อขยายเทรนต์แคร์เน็ตเวิร์ก (TRENT Care Network) รวมระยะเวลา 10 ปี หลังจากศึกษาความเป็นไปได้นานถึงกว่า 1 ปี โดยใช้โรงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยานของการบินไทย ที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง โดยการบินไทยจะเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องยนต์รุ่น TRENT คาดใช้งบฯลงทุน 1 พันล้าน

โดยเบื้องต้นคาดว่าใช้งบฯลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท สำหรับซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในการซ่อมและค่าใช้จ่ายสำหรับส่งช่างซ่อมบำรุงไปอบรม โดยระยะแรกจะใช้งบฯ 500 ล้านบาท เพื่อซ่อมเครื่องยนต์ TRENT 1000 ของเครื่องบินโบอิ้ง 787 และระยะที่ 2 ค่อยลงทุนเพิ่มอีกราว 500 ล้านบาท สำหรับซ่อมเครื่องยนต์ TRENT 700 ของเครื่องบินแอร์บัส 330

โดยเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นเป็นรุ่นที่การบินไทยใช้ทำการบิน และยังได้รับความนิยมจากสายการบินจากทั่วโลก ซึ่งสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะสามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้ครบทั้ง 2 รุ่นภายใน 3 ปีตั้งเป้ามีรายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

นายสุรชัยกล่าวว่า หลังจากลงนามความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา การบินไทยคาดว่าจะเริ่มมีรายได้การซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เร็วที่สุดเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าปี 2562 จะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 4,000-5,000 ล้านบาทในปี 2563 จากกำลังการซ่อม 30 เครื่องยนต์ต่อปี ทำให้คาดว่าในปี 2563 การบินไทยจะมีรายได้จากการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นเป็น 7,000-8,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ที่ 3,000 ล้านบาท และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการซ่อมเป็น 70-80 เครื่องยนต์ต่อปี

“ความร่วมมือในอนาคตจะไปต่ออย่างไรเราคงต้องพิจารณาความชัดเจนของนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากรัฐบาลว่ามีนโยบายอย่างไร และในลักษะใดบ้าง สำหรับท่าอากาศยานดอนเมือง”

พร้อมรองรับลูกค้านอก

ด้านนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายช่างของการบินไทยดำเนินการซ่อมเครื่องยนต์อากาศยานแบบต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อให้บริการแก่เครื่องบินการบินไทยและสายการบินลูกค้า ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาขีดความสามารถ ทั้งในด้านการฝึกอบรมบุคลากรรวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อรองรับเครื่องยนต์อากาศยานรุ่นใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการบิน

โดยการลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ครั้งนี้ เพื่อพัฒนาโรงซ่อมเครื่องยนต์อากาศยานที่การบินไทยมีอยู่ให้ซ่อมเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่สายการบินส่วนใหญ่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ซึ่งการบินไทยมีขีดความสามารถที่จะขยายกำลังการซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT 700 และ TRENT 1000 ที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดในภูมิภาค นับเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์โรงซ่อมอย่างคุ้มค่า รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางธุรกิจร่วมกัน สามารถเพิ่มรายได้จากลูกค้าภายนอกประเทศ สร้างผลตอบแทนและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่การบินไทยด้วย

“ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สนองต่อนโยบายของรัฐ และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ new growth engine ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของแผนอีอีซีให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศในด้านการซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างขีดความสามารถของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบินให้เป็นหนึ่งในภูมิภาค

ปั้น กทม.ศูนย์ทดสอบเครื่องยนต์

นายคริส ชอร์ตั้น ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการบินพาณิชย์ บริษัท โรลส์-รอยซ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ที่ผ่านมา การบินไทยและโรลส์-รอยซ์ได้มีโอกาสฉลองความร่วมมือ โดยเน้นเฉพาะที่โรงงานทดสอบเครื่องยนต์ และส่วนหนึ่งในการประกาศความร่วมมือในครั้งนั้น เราได้ตกลงกันว่าเราจะใช้หนึ่งในโรงงานทดสอบเครื่องยนต์ของการบินไทยที่กรุงเทพฯ ในการทดสอบเครื่องยนต์ในระยะยาว สำหรับเครื่องยนต์ Trent XWB ซึ่งการบินไทยมีอยู่ในฝูงบินในปัจจุบัน

“การประกาศถึงความร่วมมือในวันนี้บ่งบอกให้รู้ว่า การบินไทยและโรลส์-รอยซ์จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เราจะร่วมมือกันเพื่อหาทางที่จะพัฒนาโรงงานซ่อมเครื่องยนต์ของการบินไทย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อทางโรลส์-รอยซ์จะได้ต้อนรับการบินไทยเป็นครอบครัวของ Rolls-Royce Authorized Maintenance Centres ซึ่งจะเป็นอีกขั้นหนึ่งของความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ และเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งโรลส์-รอยซ์ การบินไทย และประเทศไทย จะพัฒนาไปข้างหน้าร่วมกัน ซึ่งจะทำให้โรลส์-รอยซ์นำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการทำงาน ความยืดหยุ่น และทางเลือกในเครือข่ายการให้บริการแก่ลูกค้า”

ปริมาณเครื่องโรลส์-รอยซ์พุ่ง

สำหรับการบินไทยไม่เฉพาะการให้บริการที่มีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องยนต์ในฝูงบินของการบินไทยเอง ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการบินไทยมีเครื่องยนต์ที่ทันสมัยทุกแบบของโรลส์-รอยซ์อยู่ในฝูงบิน แต่ความร่วมมือระหว่างการบินไทยและโรลส์-รอยซ์ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้การบินไทยสามารถให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ ได้อีก เป็นการสร้างรายได้ให้กับการบินไทยและจากการคาดการณ์ว่าเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ในฝูงบินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งย่อมมีความต้องการโรงงานศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ตามมานั้น เป็นสิ่งที่ดีที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศไทยเป็นโอกาสที่จะได้สร้างบุคลากร และทีมงานที่มีความชำนาญ และความเชี่ยวชาญในประเทศนี้ และอย่างที่การบินไทยได้พูดถึงคือ โครงการนี้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาภาคอากาศยานในประเทศไทย ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่าจะประสบผลสำเร็จ