บูม “Wellness & Medical” หนุนไทยขึ้นฮับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโลก

Wellness & Medical

จากข้อมูลของ Global Wellness Institute ระบุว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตปีละ 20% และคาดว่าในปี 2568 นี้ ธุรกิจ Wellness ทั่วโลกสูงถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในประเทศไทยนั้นมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะมีมูลค่ารวมที่ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2570 การส่งเสริม Wellness Tourism จึงเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในอนาคต

มุ่งสู่ฮับ Wellness Tourism

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายด้าน Wellness และ Medical Hub ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ในระดับโลก

สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ เทพสุทิน

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุขภาพในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 40,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอุตสาหกรรมสุขภาพทั่วโลกที่มีมูลค่ามากกว่า 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเสริมศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Hub ของโลก โดยเน้นการเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพกับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สร้าง ศก.-ยกระดับคุณภาพชีวิต

“สมศักดิ์” บอกว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism มากกว่า 3.5 ล้านคนต่อปี และมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและเสน่ห์เฉพาะตัว

ADVERTISMENT

โดยหนึ่งในโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มเพื่อเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพกับการท่องเที่ยว คือ โครงการเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellcation ซึ่งเป็นการผสมผสานการบริการด้านสุขภาพกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

โครงการดังกล่าวนี้ได้เลือกพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ด้วยภูมิประเทศที่สวยงาม ทั้งภูเขา ทะเล แม่น้ำ และป่าไม้ รวมถึงอาหารพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์

ADVERTISMENT

อาทิ น้ำตาลโตนดจากเพชรบุรี สับปะรดจากประจวบคีรีขันธ์ การเชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เข้ากับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เพียงแค่การผ่อนคลาย แต่ยังส่งเสริมสุขภาพไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ยังจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการเชื่อมโยงสุขภาพกับการท่องเที่ยวไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นและทั่วประเทศ

ขับเคลื่อนท่องเที่ยวระยะยาว

พร้อมย้ำว่า การพัฒนา Wellness Tourism ถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในเส้นทางการเป็นศูนย์กลาง Medical and Wellness Hub เช่น กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุขภาพ การขาดแคลนแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ

รวมถึงการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

Wellness & Medical

หนุนหลักสูตรการอบรม

สำหรับในส่วนของการส่งเสริมการพัฒนาในระยะยาวนั้น “สมศักดิ์” บอกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนหลักสูตรการอบรม Wellness Business and Beyond (WBB) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย มูลนิธิแพทย์เพื่อปวงประชา และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เพื่อพัฒนาผู้นำในอุตสาหกรรมสุขภาพและ Wellness ให้มีวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ

โดยหลักสูตรนี้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในส่วนของการแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะนวดแผนไทยนั้น ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนยกระดับฝีมือของหมอนวด ด้วยการเพิ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไป โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มอาการ ประกอบด้วย 1.ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หรือออฟฟิศซินโดรม 2.หัวไหล่ติด 3.นิ้วล็อก 4. กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทหรือปวดสลักเพชร 5.หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 6.อัมพฤกษ์ อัมพาต และ 7.กลุ่มระบบสืบพันธุ์ ให้มีการอบรมตามหลักสูตรเพื่อให้มีความชำนาญ ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมจำนวน 207 ชั่วโมง จากเดิมเป็นหลักสูตร 150 ชั่วโมง

โดยชั่วโมงที่เพิ่มเข้ามาจะเป็นหมวดวิชาความรู้พื้นฐาน และเพิ่มเติมหมวดภาษาและวัฒนธรรม

“หมอนวดแผนไทยเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ ทั้งตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น เมื่อมีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น รายได้ของเราก็จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว”

ดันไทยขึ้นศูนย์กลางสุขภาพโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขย้ำอีกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้าน Medical และ Wellness Hub ของโลก เนื่องจากมีความโดดเด่นหลายประการ เช่น มีโรงพยาบาลและคลินิกที่มีมาตรฐานระดับโลก มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ได้รับการยอมรับในระดับสากล ค่ารักษาพยาบาลอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

นอกจากนี้ คนไทยยังมีจิตวิญญาณด้านการให้บริการที่ดี รวมถึงมีภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศอีกด้วย ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานธุรกิจสุขภาพของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

โดยเชื่อมั่นว่าการพัฒนา Wellness Tourism และการเชื่อมโยงกับธุรกิจสุขภาพจะเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพระดับโลกต่อไป