การบินไทย เข้าโค้งท้ายแผนฟื้นฟูฯ ชงที่ประชุมผู้ถือหุ้นเคาะชื่อบอร์ดใหม่

Thai Airways

การบินไทยเดินหน้าสู่ด่านสุดท้ายของแผนฟื้นฟู ผู้บริหารแผนเตรียมประชุมพิจารณาคุณสมบัติ “บอร์ดใหม่” 25 ก.พ.นี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น 18 เมษาฯ เผยหลังได้บอร์ดใหม่ผู้บริหารแผนจะยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูทันที พร้อมเสนอตลาดหลักทรัพย์ฯ นำหุ้นเข้าซื้อขายต่อไป วงในคาดผลประกอบการปี’67 มีรายได้รวม 1.8-1.9 แสนล้านบาท ใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด กวาดกำไรราว 1.5-2 หมื่นล้านบาท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง หลังจากเข้าแผนฟื้นฟูธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการหารายได้และการบริการจัดการต้นทุน โดยในปี 2566 การบินไทยมีกำไรสูงถึง 28,000 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 สามารถทำกำไรได้ถึง 15,000 ล้านบาท

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งอีกครั้งหลังจากที่มีการเพิ่มทุนและแปลงหนี้เป็นทุนไปเมื่อปี 2566-2567 โดยปัจจุบันทุนของบริษัทมีมูลค่าบวกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท แม้จะมีหนี้สินสะสมคงค้างอยู่ในระดับสูงราว 80,000-90,000 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขที่บริหารจัดการได้ด้วยการลดราคาพาร์ตามแผนฟื้นฟูในระยะต่อไป

“วันนี้การบินไทยมีเที่ยวบิน 64 เส้นทางทั่วโลก ทำการบินรวม 807 เที่ยวบินต่อสัปดาห์” นายชาญศิลป์กล่าวและว่า การบินไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและขยายตลาดต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทั้งในด้านการบริการและการขยายเส้นทางบิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เคาะชื่อบอร์ดใหม่ 18 เมษาฯนี้

นายชาญศิลป์กล่าวด้วยว่า วันนี้การบินไทยเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว คือ ขั้นตอนการเลือกกรรมการ (บอร์ดบริหารชุดใหม่) หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เพื่อที่จะยื่นขอศาล ออกจากแผนฟื้นฟูในช่วงกลางปี 2568 นี้ โดยผู้บริหารได้กำหนดประชุมคณะผู้บริหารแผนการบินไทยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์และความเหมาะสมของผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการชุดใหม่

“ข้อบังคับทั่วไปเราสามารถมีจำนวนคนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการได้ตั้งแต่ 5-15 คน แต่ตอนนี้เราคิดว่าน่าจะกำหนดจำนวนไว้ที่ 11-15 คน ตอนนี้ผู้ถือหุ้นในแต่ละส่วนก็เริ่มเสนอชื่อมาแล้ว ซึ่งเราจะมีการพิจารณาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เพื่อนำเสนอในการประชุมผู้ถือหุ้นนัดแรกในวันที่ 18 เมษายน 2568 ให้รับรองรายชื่อบอร์ดใหม่”

ADVERTISMENT

ตั้งเป้าท็อป 10 สายการบินโลก

นายชาญศิลป์กล่าวด้วยว่า หากผู้ถือหุ้นเห็นชอบก็จะนำไปสู่ขั้นตอนรายงานศาลล้มละลาย และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ชุดใหม่ต่อไป หลังจากนั้นการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟู และนำเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขออนุมัติให้หุ้นการบินไทยเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้ง

“การบินไทยเราค่อย ๆ พัฒนาเพื่อเข้ามาสู่มาตรฐานสากลแล้ว และเชื่อว่าจะสามารถกลับมาเติบโตอย่างแข็งแรง และสามารถแข่งขันได้อีกครั้ง รวมทั้งหวังว่าอีกไม่นานการบินไทยจะขึ้นติดอันดับ 1 ใน 10 สายการบินที่ดีที่สุดของโลกได้” นายชาญศิลป์กล่าว

ADVERTISMENT

หนุนท่องเที่ยว-สร้างเศรษฐกิจ

นายชาญศิลป์กล่าวต่อไปว่า การบินไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางทั่วโลกถึง 5,000 ล้านคน และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่การบินไทยให้บริการนั้นจะมีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้การบินไทยจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำผู้โดยสารเข้าสู่ประเทศไทย

“ก่อนช่วงโควิด-19 การบินไทยมียอดขายปีหนึ่งเกือบ 2 แสนล้านบาท สร้างเศรษฐกิจ สร้างแรงงานเกือบ 1,000,000 คน การบินไทยจึงพยายามเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ”

เร่งหาเครื่องบินใหม่เสริม

สำหรับในส่วนของเครื่องบินนั้น นายชาญศิลป์กล่าวว่า โดยที่ผ่านมา การบินไทยได้พยายามจัดหาเครื่องบินใหม่ เพื่อเสริมทัพและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) อย่างต่อเนื่อง โดยทำการสั่งซื้อเครื่องบิน Airbus A321 จำนวน 32 ลำ และ Boeing 787 จำนวน 45 ลำ ซึ่งเบื้องต้นได้จ่ายมัดจำไปแล้ว และมีทำการทยอยรับมอบเครื่องบิน Airbus A321 เข้ามาในปลายปีนี้เป็นต้นไป

ส่วนเครื่องบินลำตัวกว้าง Boeing 787 ลอตแรกจำนวน 45 ลำแรก ตามแผนการจัดซื้อจัดหานั้นมีระยะเวลารับมอบ 9 ปี (จากปี 2567) โดยจะทยอยรับมอบตั้งแต่กลางปี 2570 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีอยู่ในแผนจัดหาอีกจำนวน 35 ลำ ซึ่งจะพิจารณาจัดหาให้สอดรับกับสถานการณ์ของตลาดต่อไป

Thai Airways

ปัจจัยเสี่ยงยังตรึม

นายชาญศิลป์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า แม้การบินไทยจะฟื้นฟูกิจการได้ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินต่าง ๆ โดยเฉพาะสายการบินในตะวันออกกลางที่มีทุนสนับสนุนจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้มีเครื่องบินจำนวนมาก และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งการเมืองระดับโลก ค่าเงิน ราคาน้ำมัน การขาดแคลนบุคลากร และเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ดังนั้น การบินไทยจึงต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและรองรับการแข่งขันที่มากขึ้นในอนาคต โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และการลงทุนในเครื่องบินใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และก้าวสู่การเป็นสายการบินชั้นนำของโลกในอนาคต

“ปี 2568 การบินไทยจะครบรอบ 65 ปี การดำเนินกิจการ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการพัฒนา และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการบินไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมการบินในอนาคต”

คาดปี’67 กำไร 1.5-2 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลการดำเนินงานสำหรับปี 2567 ว่า บริษัทมีกำหนดแจ้งรายงานผลประกอบการปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ โดยคาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 180,000-190,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด และมีกำไรอยู่ในประดับ 15,000-20,000 ล้านบาท

“ปี 2567 นี้ เรามีผลตอบแทน (ยีลด์) จากการตั๋วโดยสารดีขึ้นมากคือประมาณเกือบ 3 บาทต่อหน่วย จากประมาณ 2.5-2.5 บาทในช่วงก่อนหน้า และยังเชื่อว่าจะยังสามารถรักษายีลด์ให้อยู่ในระดับที่ดีแบบนี้ไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี” แหล่งข่าวกล่าว