
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” นับเป็นหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสากลที่เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาความหรูหรา ทั้งกลุ่มที่เป็นเจ้าของเรือยอชต์และผู้ที่ชื่นชอบกีฬาทางน้ำ และถือว่าเป็นหนึ่งใน “เดสติเนชั่น” หลักที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “กูลู ลาวานี” ประธานบริหาร รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) เกี่ยวกับแผนการพัฒนาท่าเรือ และโครงการใหม่ ๆ ของ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2568 นี้ ดังนี้
ยกภูเก็ตสู่ “ยอชต์เดสติเนชั่น”
“กูลู ลาวานี” ย้อนความว่า รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการทำให้ภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางทะเล และการล่องเรือยอชต์ระดับโลก โดยสร้างท่าเรือที่สามารถรองรับเรือยอชต์ขนาดใหญ่ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
รวมทั้งร่วมผลักดันการปรับลดภาษีนำเข้าเรือยอชต์ในปี 2547 ได้ช่วยยกระดับภูเก็ต ให้กลายเป็น “ยอชต์เดสติเนชั่น” ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ
ปัจจุบัน “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ได้พัฒนาไปแล้วเกือบทั้งหมดของพื้นที่ โดยมีท่าเรือที่สามารถรองรับเรือได้ถึง 250 ลำ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น พูลวิลล่าหรูหรา คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ร้านค้า และสำนักงาน
และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
เพิ่ม “ร้านอาหาร-บาร์หรู”
“ลาวานี” บอกด้วยว่า ในปี 2568 รอยัล ภูเก็ต มารีน่า จะมุ่งเน้นการยกระดับภูเก็ตให้เป็นจุดหมายปลายทางที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวระดับลักเซอรี่ โดยจะมีการขยายพื้นที่ใหม่ภายในโครงการเพื่อเพิ่มร้านอาหารและบาร์สุดหรู จำนวน 29-30 ยูนิต ซึ่งจะคัดเลือกร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจากภูเก็ตมาให้บริการ
โดยร้านอาหารดังกล่าวจะตั้งอยู่รอบ ๆ บริเวณบอร์ดวอล์กในบริเวณท่าเรือ เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างและน่าจดจำให้กับนักท่องเที่ยว
รวมทั้งยังมีแผนการนำท็อปดีไซเนอร์จากทั่วโลกมาร่วมออกแบบพื้นที่ใหม่ เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะของโครงการ โดยเน้นความเป็นไทยสมัยใหม่ และการสร้างพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับประสบการณ์ทางทะเลที่หลากหลาย
ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง
โดยการพัฒนาในเฟสใหม่ของรอยัล ภูเก็ต มารีน่า จะขยายพื้นที่จอดเรือและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับเรือยอชต์ลักเซอรี่ พร้อมทั้งเสริมสร้างการบริการให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจการเช่าเรือยอชต์และการทัวร์ทะเล ซึ่งจะทำให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่เพียงแต่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายในการท่องเที่ยวทางทะเล
“การพัฒนาดังกล่าวนี้เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจากรัสเซีย จีน ฮ่องกง และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง”
สร้างเศรษฐกิจ-พัฒนาอย่างยั่งยืน
ประธานบริหารรอยัล ภูเก็ต มารีน่า บอกด้วยว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโครงการรอยัล ภูเก็ต มารีน่า คือการเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ประกาศให้ท่าเรือของตนเป็นท่าเรือที่ได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอนติดต่อกันหลายปี
“เราตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการกระตุ้นให้ทั้งอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงการที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเรือไฟฟ้า (EV) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ”
คาดปีนี้นักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ต 13 ล้านคน
รวมถึงทำให้ภูเก็ตกำลังกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในระดับโลก และในแวดวงการท่องเที่ยวหรูหรา โดยรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันให้ภูเก็ต กลายเป็น “สวรรค์แห่งการท่องเที่ยวทางน้ำ” ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครในการล่องเรือและการพักผ่อนหรูหราริมทะเล
โดยคาดว่าภูเก็ตจะมียอดนักท่องเที่ยวสูงถึง 13 ล้านคนในปีนี้ และรอยัล ภูเก็ต มารีน่า พร้อมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน พร้อมทั้งคาดว่าจะเพิ่มอัตราการท่องเที่ยวซ้ำที่สูงขึ้นถึง 65% โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย จีน ฮ่องกง และตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง
จุดเปลี่ยน “ท่องเที่ยวทางน้ำ”
“ลาวานี” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หากย้อนกลับไปในปี 2002 การหารือระหว่างรอยัล ภูเก็ต มารีน่า และนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ส่งผลให้ภาษีนำเข้าเรือยอชต์ลดลงจากมากกว่า 200% เหลือ 0% ในปี 2004 นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการเดินเรือในภูเก็ต และได้ช่วยให้เกิดอาชีพ รายได้ และผลประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่
โดยไม่เพียงแค่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูเก็ตในระยะยาว โดยการสร้างแบรนด์ใหม่และโลโก้ใหม่ที่มีความร่วมสมัยและสะท้อนถึงตัวตนของโครงการ
“เราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกในด้านความยั่งยืน ซึ่งบริษัทกำลังเดินหน้าเต็มที่ในการกระตุ้นให้ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องหันมาพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตที่สดใสและยั่งยืนของภูเก็ตและประเทศไทย”
พร้อมทิ้งท้ายว่า การพัฒนาโครงการรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ในปี 2568 นี้ จะเป็นการยกระดับภูเก็ตให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกที่ครบวงจรสำหรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยในอนาคต
โดย “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” พร้อมที่จะเป็น “ผู้นำ” ในการผลักดันให้ “ภูเก็ต” กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำระดับโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า