
ส่อง 4 ธุรกิจปางช้างทั่วประเทศไทย มีกิจกรรมอะไรบ้าง รายได้เท่าไหร่ อยู่ที่ไหนบ้าง ?
แม้ว่าคนไทยจะชื่นชอบหมูเด้งกันมากแค่ไหน แต่สำหรับช้างไทยที่นอกจากจะถูกยกให้เป็นสัตว์ประจำชาติแล้วยังเป็นสัตว์ประจำใจคนไทยอีกด้วย ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ช้างได้เข้ามามีส่วนในการปกป้องเอกราชและความเป็นชาติให้กับประชาชนคนไทยที่หลายคนอาจเคยได้ดูจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นก้านกล้วย
นอกจากนั้นช้างไทยยังได้ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5 และถูกพบในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เนื่องในโอกาสวันช้างไทย ที่นอกจากความสำคัญดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันช้างที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยคนได้ก็สามารถสร้างรายได้จากปางช้างและการทำกิจกรรมได้อีกด้วย ประชาชาติธุรกิจพาส่อง 4 ปางช้างทั่วประเทศไทย มีที่ไหนบ้าง ?
ปางช้างแม่แตง
ปางช้างแม่แตงอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดมาตั้งแต่ปี 2536 เป็นธุรกิจครอบครัวที่ร่วมมือกันของสามพี่น้อง วาสนา ทองสุข เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2556 ได้รับอิทธิพลจาก Lost in Thailand ภาพยนตร์จีนที่มาถ่ายทำในไทย ทำให้ปางช้างมีรายได้แตะ 1,000,000 บาท/วัน
ด้วยพัฒนาการด้านธุรกิจ ในเดือนตุลาคม 2567 ปางช้างแม่แตงมีจำนวนช้างมากถึง 54 เชือก จัดโปรแกรมให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมตั้งแต่ชมการแสดง นั่งเกวียน นั่งเสลี่ยง บริการอาหาร ล่องแพ และเยี่ยมชมหมู่บ้านชนเผ่า ในราคาตั้งแต่ 1,600-1,900 บาท
รายได้ช่วงโลว์ซีซั่น กันยายน-ตุลาคม “ปางช้างแม่แตง” มีนักท่องเที่ยวราว 200-300 คน/วัน สร้างรายได้ 300,000-400,000 บาท/วัน ขณะที่ในช่วงไฮซีซั่น พฤศจิกายนเป็นต้นไป มีรายได้มากถึง 600,000-700,000 บาท/วัน
ปางช้างไทรโยค
ศูนย์อนุรักษ์ช้างแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวกาญจนบุรีที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวธรรมชาติบนผืนป่ากาญจนบุรี และใกล้ชิดกับช้างกว่า 40 เชือก โดยมีกิจกรรมมากมาย อาทิ กิจกรรมล่องแพ นั่งช้างชมป่าธรรมชาติ จากตัวเมืองกาญจนบุรีไปตามเส้นทางไทรโยค-ทองผาภูมิ ประมาณกิโลเมตรที่ 45 ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และมีการแสดงช้างทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีการทำอาหารให้ช้าง, ป้อนอาหารช้าง, การเดินเล่นกับช้าง และอาบน้ำเล่นโคลนกับช้างอีกด้วย โดยทีมงานของปางช้างไทรโยคเล่าว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ปางช้างเต็มไปด้วยความคึกคักจากการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมตลอดทั้งเดือนในช่วงไฮซีซั่นของทุกปี
ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างตากลาง
ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างตากลาง ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก จากการที่ชาวบ้านตากลางผูกพันกับช้างที่เลี้ยงมาอย่างยาวนาน โดยที่หมู่บ้านจะมีการฝึกช้างไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดในทุกปี สำหรับใครที่ได้ไปเยี่ยมชมก็จะได้รับบรรยากาศของบ้านพื้นถิ่น ธรรมชาติของจังหวัดสุรินทร์ และการเลี้ยงช้างในรูปแบบของครอบครัว และสัมผัสวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังมีลานแสดงช้างของโครงการ Elephant World หรือโลกของช้าง ให้ได้ชมกัน และมีพิพิธภัณฑ์ช้าง (Elephant Museum) ให้ได้เข้าชมอีกด้วย
ปางช้าง Thaielephanthome
ปางช้างเก่าแก่ของไทย ทำมาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยแนวคิดเปลี่ยนภาพจำการนั่งเสลี่ยงมาเป็นการนั่งบนคอช้าง โจ วนชาติ เปิดเผยว่า รายได้ของปางช้างมาจากนักท่องเที่ยวท้ั้งหมด โดยมีการจัดโปรแกรมให้ได้ใกล้ชิดกับช้างตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ราคา 2,000 บาทไปจนถึง 1 วันในราคา 4,900 บาท
และช่วงไฮซีซั่น รายได้รวมโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 700,000-800,000 บาท หากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น กันยายน-ตุลาคม รายได้จะอยู่ที่ 200,000-300,000 บาท โดยมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มาใช้บริการมากที่สุด และยังกลับมาท่องเที่ยวซ้ำหลายครั้ง