
“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน เผยแรงงานไทยแห่ไปทำงานต่างประเทศ คาดปี’68 ส่งรายได้กลับประเทศพุ่ง 2.7 แสนล้านบาท ไม่นับรวมแรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบไปทำงานอีกเกือบ 4 แสนคน “อิสราเอล” ครองแชมป์อันดับ 1 ของแรงงานไทย ชี้รายได้สูงกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 100,000 คน โดยการจัดกิจกรรม MOL Overseas Matching ซึ่งเป็นการขยายโอกาสการมีงานทำของแรงงานไทยตามที่กระทรวงแรงงานได้ทำความตกลงไว้กับประเทศปลายทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นการขยายตลาดแรงงานเชิงรุกและบูรณาการร่วมกันกับทุกกรม/ สำนักงานในกระทรวงแรงงาน
โดยประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการโครงการขยายตลาด ซี่งมีการดำเนินงานมาแล้ว 4 ประเทศ/ดินแดน เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น รัฐอิสราเอล เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ตามลำดับ และในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 นี้กระทรวงฯ มีกำหนดการเดินทางไปจัดกิจกรรมตามโครงการดังกล่าวในไต้หวันด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2568 คาดว่าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศจะสามารถสร้างรายได้จากการส่งเงินรายได้กลับของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศประมาณ 270,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีมูลค่ารวม 267,844 ล้านบาท และปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 245,697 ล้านบาท
“ในปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวนแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศลดลง เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล แต่หากเทียบรายได้ส่งกลับในปี 2566 และ 2567 พบว่าปี 2567 มีรายได้ส่งกลับมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศมีทักษะการทำงานสูงขึ้น จึงมีรายได้ส่งกลับมาเพิ่มมากขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว และว่า โดยประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ รัฐอิสราเอล รองลงมาคือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สปป.ลาว สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนตำแหน่งงานที่แรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ คนงานอุตสาหกรรมทั่วไป, คนงานทั่วไป, ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ ,คนงานเกษตร , คนงานก่อสร้าง , ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ , นวดแผนโบราณ , ช่างเทคนิค , เกษตรกรเก็บผลไม้ป่า และ ช่างเชื่อม ตามลำดับ
“ในปี 2567 รัฐอิสราเอลมีปัญหาเรื่องความไม่สงบ แต่ขณะนี้แรงงานไทยที่กลับมาได้กลับไปทำงานที่รัฐอิสราเอลต่อแล้ว เนื่องจากมีรายได้ที่ดีมาก โดยตำแหน่งงานในภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน แต่หากเป็นตำแหน่งงานในการก่อสร้างมีรายได้รวมเฉลี่ยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน” นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากแรงงานที่กระทรวงแรงงานจัดส่งไปทำงานในต่างประเทศแบบถูกกฎหมายแล้วยังมีแรงงานไทยอีกจำนวนหนึ่งที่พำนักเกินกำหนดและลักลอบไปทำงานในต่างประเทศอีกกว่า 380,000 คน โดย 5 อันดับแรกคือ 1. มาเลเซีย มีจำนวน 210,002 คน 2. เกาหลีใต้ จำนวน 136,023 คน 3. ญี่ปุ่น จำนวน 20,183 คน 4. สหรัฐอเมริกา จำนวน 7,500 คน และ 5. อิสราเอล จำนวน 6,656 คน