‘แอร์เอเชีย’ ชี้จีนร่วงยาว ทุ่มกวาดแชร์ในประเทศ-บูมอินเดีย

Air Asia

ปี 2566 เป็นปีแรกที่ ไทยแอร์เอเชีย สามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหลังจากขาดทุนหนักในปี 2564-2565 จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และมีตัวเลขกำไรกลับมาได้ถึงกว่า 3,400 ล้านบาทในปี 2567 ที่ผ่านมา

ปี 2568 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” จึงประกาศเดินเครื่องเต็มสูบด้วยการเพิ่มฝูงบินใหม่อีก 6 ลำ การขยายเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ระบุว่า ไทยแอร์เอเชียมีผลประกอบการฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมาและคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 15% ในปี 2568 นี้

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

โดยมีแผนเพิ่มเครื่องบินรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินอีกจำนวน 6 ลำ ทำให้ในปี 2568 นี้ ไทยแอร์เอเชียจะมีฝูงบินรวม 66 ลำ (สิ้นปี 2567มีจำนวน 60 ลำ) สูงกว่าปี 2562 ที่มีฝูงบินจำนวน 63 ลำ

ตลาดจีน (ยัง) ร่วงยาว

โดยตลาดจีนซึ่งเคยเป็นตลาดหลักยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังไม่ฟื้นกลับมาได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ดังนั้นยุทธศาสตร์ของไทยแอร์เอเชียในปีนี้คือ จะเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดเส้นทางบินในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่ฟื้นกลับมาได้เร็วและมากกว่าช่วงก่อนโควิด

รวมทั้งขยายฐานตลาดอินเดียให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาดอินเดียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

เช่นเดียวกับ “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ที่บอกว่า ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประเทศไทยจากกรณีลักพาตัวของดาราจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บวกกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

สันติสุข คล่องใช้ยา
สันติสุข คล่องใช้ยา

สำหรับ “ไทยแอร์เอเชีย” นั้น ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (3 เดือน) พบว่ามียอดนักท่องเที่ยวจีนมีประมาณ 200,000 คน คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากไฟลต์บินระหว่างประเทศ จากเดิมครองสัดส่วนสูงถึง 20%

ADVERTISMENT

ลดเที่ยวบินจีน-ขยายฐานอินเดีย

จากทิศทางดังกล่าวนี้ ทำให้ไทยแอร์เอเชียปรับแผนด้วยการปรับเส้นทางการบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนเหลือในสัดส่วนประมาณ 17% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด จากปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ที่มีสัดส่วนถึง 30%

โดยปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง แต่ยังรักษาจุดหมายปลายทางเดิมใน 9 เมืองไว้ ประกอบด้วย กว่างโจว ฉงชิ่ง เสิ่นเจิ้น คุนหมิง หางโจว เฉิงตู อู่ฮั่น ซีอาน และฉางชา

“ท่ามกลางการชะลอตัวของตลาดจีนนั้น เราพบว่าตลาดอินเดีย มาเลเซีย ไต้หวัน รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2567 ที่ผ่านมา”

ดังนั้น ปีนี้ “ไทยแอร์เอเชีย” จึงหันไปโฟกัสตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นสัดส่วน 18% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียงแค่ 8% ขณะที่ตลาดเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีสัดส่วน 15%

เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นสัดส่วน 49% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีสัดส่วน 46%

Air Asia

ครองแชร์ในประเทศ 40%

ขณะที่เส้นทางบินภายในประเทศ (Domestic) นั้น ยังเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญ และมุ่งสร้างการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากดีมานด์ในตลาดมีอัตราการเติบโตที่สูงและมีศักยภาพในการทำกำไรดีกว่าเส้นทางบินระหว่างประเทศถึง 2 เท่าตัว

ที่สำคัญเป็นตลาดที่ “ไทยแอร์เอเชีย” มีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ถึง 40% ในปี 2567 ที่ผ่านมา

โดยเป้าหมายในปีนี้คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดเส้นทางในประเทศที่ 40% สูงสุดที่เคยได้มา และเติบโตจากฐานส่วนแบ่งตลาด 32% เมื่อปี 2562

และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศเป็น 65% จาก 60% เมื่อปีที่แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดต่างประเทศที่ยังมีความผันผวนสูงในบางตลาด

เดินหน้านโยบาย 2 สนามบิน

“สันติสุข” บอกด้วยว่า หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการเติบโตของตลาดเส้นทางบินภายในประเทศคือ นโยบาย “2 สนามบินเต็มรูปแบบ” โดยเร่งสร้างการเติบโตที่สนามบินสุวรรณภูมิควบคู่กับสนามบินดอนเมืองที่เป็นฐานการบินหลัก

ทั้งนี้ เนื่องจากขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองในปัจจุบันใกล้เต็ม หรืออยู่ที่ประมาณ 92% ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิยังมีช่องทางการขยายตัวจากอาคาร SAT-1 และการขยายรันเวย์ที่ 3 มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 60 ล้านคนต่อปี เป็น 75 ล้านคนต่อปีได้ในปี 2570

ไม่เพียงเท่านี้ สนามบินสุวรรณภูมิยังมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้รองรับได้เป็น 150 ล้านคนต่อปีในอนาคต

“ปีนี้เรามีแผนเปิดเส้นทางในประเทศให้ได้ 11 เส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิให้ครอบคลุมสู่ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ จากปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ 6 เส้นทางบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิสู่เชียงใหม่, ภูเก็ต, กระบี่, หาดใหญ่, อุดรธานี, ขอนแก่น และล่าสุดเตรียมเพิ่มอีก 3 เส้นทางคือ สุราษฎร์ธานี, นราธิวาส และบุรีรัมย์ นอกจากนี้เรายังมองการเปิดเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งด้วย”

Air Asia

ตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้ 24 ล้านคน

นอกจากนี้ “ไทยแอร์เอเชีย” ยังมีแผนเพิ่มเส้นทางบินต่างประเทศในรูปแบบ Fifth Freedom หรือการเจาะตลาดเสรีภาพการบินที่ 5 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการไปแล้ว 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ไทเป-โอกินาวา, กรุงเทพฯ-เกาสง-โตเกียว (นาริตะ) และเส้นทางเชียงใหม่-ไทเป-ซัปโปโร

โดยทุกเส้นทางได้รับการตอบรับและมีศักยภาพในการทำกำไรได้ดี โดยในอนาคตอาจเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่น โดยแวะจอดฮ่องกง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” ได้วางเป้าหมายมีผู้โดยสารรวม 23-24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 21 ล้านคน และมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 90%

พร้อมระบุด้วยว่า “ไทยแอร์เอเชีย” มีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ต่อเนื่อง เพื่อเจาะตลาดใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายมีฝูงบินเป็น 97 ลำในปี 2573 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า