‘ท่องเที่ยว’ รื้อใหญ่แผนครึ่งปีหลัง รับปัจจัยเสี่ยงหวั่นสงกรานต์ร่วง

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เร่งระดมทีมกลยุทธ์รื้อแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวช่วง 6 เดือนหลังงบฯ ปี’68 เผยสถานการณ์เปลี่ยนเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงใหม่ ทั้งภัยพิบัติ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ชี้แค่ “บิ๊กอีเวนต์” เอาไม่อยู่ “สายการบิน-โรงแรม” เผย 2 วันหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวบุ๊กกิ้งตั๋วบินลด 40-60% ยกเลิกห้องพัก 1,100 ห้อง จี้รัฐฟื้นเชื่อมั่นต่างชาติ หวั่นนักท่องเที่ยวแห่ยกเลิกโรงแรม-ไฟลต์บินช่วงสงกรานต์

นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะปรับและแก้ไข (Revise) แผนการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2568 (เมษายน-กันยายน) ใหม่ โดยระดมทีมกลยุทธ์ที่เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวมาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

นัทรียา ทวีวงศ์
นัทรียา ทวีวงศ์

จากนั้นจะมอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมการตลาดนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด หรือภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โลกในวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก มีปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ล้วนก่อให้เกิดความตึงเครียด กระทบต่อความเชื่อมั่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรง

“หลังจากนี้ภาคการท่องเที่ยวของเราจะต้องใช้ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ เราต้องปรับแผนและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา การใช้บิ๊กอีเวนต์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักไม่น่าจะตอบโจทย์ได้เพียงพอ และการมุ่งเน้นกระตุ้นตลาดจีนอย่างหนักก็คงไม่ใช่แนวทางอีกต่อไป หากต้องการให้บรรลุเป้าหมายรายได้ที่เราวางไว้จำเป็นต้องมาร่วมกันดูตลาดใหม่อื่น ๆ อย่างจริงจังด้วย” นางสาวนัทรียากล่าว

2 วันยอดจองตั๋วบินหาย 40-60%

นายกฤษ พัฒนสาร กรรมการและเลขานุการ สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 6 สายการบินภายในประเทศ ประกอบด้วย บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยไลอ้อนแอร์, เวียตเจ็ท ไทย และนกแอร์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสมาคมสายการบินฯ พบว่าตัวเลขการจองที่นั่งโดยสารรายวันของสายการบินสมาชิกในช่วง 2 วันแรกหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว (30-31 มีนาคม 2568) ที่ผ่านมามีอัตราการลดลงเฉลี่ย 40-60%

ADVERTISMENT

โดยตลาดที่ลดลงมากที่สุดคือตลาดจีน ที่ลดลงประมาณ 60% ขณะที่อินเดียและเวียดนามลดลง ประมาณ 45% และมาเลเซีย 43% ขณะที่อัตราการจองบัตรโดยสารล่วงหน้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นพบว่ายังค่อนข้างนิ่ง

“เราได้รับรายงานว่าในช่วง 2 วันแรกหลังเกิดเหตุมีเคสที่ติดต่อเข้ามาประมาณ 1,000 เคส ในจำนวนนี้ราว 90% แจ้งความประสงค์ขอเลื่อนการเดินทาง ส่วนอีก 10% แจ้งยกเลิก และที่น่าตกใจคือพบจำนวนที่ไม่มาปรากฏตัว หรือ No Show ที่สนามบินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว” นายกฤษกล่าว

ADVERTISMENT

ยกเลิกห้องพัก 1,100 บุ๊กกิ้ง

สอดคล้องกับนายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการโรงแรมที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยพบว่า ในช่วง 2 วันหลังเกิดเหตุมียอดการยกเลิกห้องพักรวมประมาณ 1,100 ห้องพัก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รองลงมาคือเชียงใหม่ เพชรบุรี และบางจังหวัดมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น เช่น พัทยา (ชลบุรี) กาญจนบุรี หัวหิน (พัทยา) รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต เป็นต้น

“ในส่วนของโรงแรมนั้น ไม่มีโรงแรมใดมีปัญหาด้านโครงสร้าง มีบ้างที่มีการหลุดลอกของผนังซึ่งเป็นเรื่องปกติ ผมอยากเน้นย้ำว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจังหวัดที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ” นายเทียนประสิทธิ์กล่าว และว่า

โดยประเด็นเร่งด่วนที่สมาคมโรงแรมได้เสนอให้ภาครัฐโดยกระทรวงมหาดไทยออกใบรับรองให้กับอาคารที่ผ่านการตรวจสอบของวิศวกรว่ามั่นคงแข็งแรงจากนั้นให้ ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายข้อมูลออกไปทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาโดยเร็ว

แนะเร่ง “เที่ยวคนละครึ่ง” ปลุกมู้ด

นอกจากนี้ สมาคมโรงแรมไทยขอเสนอให้ภาครัฐเร่งคลอดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน 2568” โดยเร็ว เพื่อให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาคึกคักและมีสีสันต่อเนื่อง จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2568 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโลว์ซีซั่น

“บรรยากาศการจองการเดินทางล่วงหน้า รวมถึงการจองห้องพักในช่วงก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมาก็ไม่ดีนัก ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อเจอเหตุแผ่นดินไหวยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวลดลงไปอีก

จึงมองว่าหากรัฐบาลเร่งออกโครงการเที่ยวคนละครึ่งออกมาได้ก่อนช่วงสงกรานต์ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศคึกคัก ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นบรรยากาศและตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ง่ายขึ้นด้วย” นายเทียนประสิทธิ์กล่าว

เช่าเหมาลำเฉิงตูยกเลิกแล้ว

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) หรือแอตต้า กล่าวว่า จากข้อมูลของนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวและใช้บริการของสมาคมแอตต้า ล่าสุดพบว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 มีจำนวนประมาณ 6,000 คน จากปกติมีจำนวนเฉลี่ยวันละประมาณ 8,000 หรือหายไปประมาณ 30% และจากการสำรวจของสมาคมทางช่องทางโซเชียลมีเดีย พบว่า 30% มีความรู้สึกทางลบต่อการเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่พัก และขอรอดูสถานการณ์ก่อน

มีเพียง 4.1% ที่มองเชิงบวกว่าประเทศไทยยังเดินทางได้ ส่วนอีก 65.8% ขอรอดูสถานการณ์ก่อน นอกจากนี้ ทางการท่องเที่ยวของไต้หวันยังได้ประกาศให้นักท่องเที่ยวที่จองการเดินทางล่วงหน้าไว้กับบริษัททัวร์สามารถยกเลิกการเดินทางได้ โดยที่บริษัททัวร์ต้องไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ด้วย

“เราเห็นปรากฏการณ์ยกเลิกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์บ้างแล้ว เช่น เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากเฉิงตูมาไทย จากเดิมที่ยังขายตั๋วไม่เต็มอยู่แล้ว แต่พอเจอเหตุแผ่นดินไหวก็ขอยกเลิกทันที” ดร.อดิษฐ์กล่าว และว่าในส่วนของสมาคมแอตต้านั้น คาดการณ์เฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนน่าจะหายไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี 2567

อัดอีเวนต์สงกรานต์ตามแผน

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า ภาครัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. สำนักงานทั่วโลก ได้กระจายข้อความทุกภาษา เพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลักของไทยยังเปิดให้บริการปกติ และสร้างความมั่นใจให้ประเทศไทยได้โดยเร็ว โดยในส่วนของแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าจัดอีเวนต์สงกรานต์ทั่วประเทศตามแผนเดิมอย่างเต็มที่

“เรามั่นใจว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจะยังคงเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามแผนเดิม หรืออาจจะมีบางส่วนที่ชะลอการเดินทางบ้าง แต่เชื่อว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด และสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับมาให้เร็วที่สุด” นายสรวงศ์กล่าว