
“บางกอกแอร์เวย์ส” เผยอุตสาหกรรมการบินเติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี’68 ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82% รายได้รวมเพิ่ม 8-9% เส้นทางบิน “สมุย” ความนิยมพุ่ง กระแส White Lotus 3 หนุนยอด มี.ค-ก.ย.โต 14% เตรียมเพิ่มฝูงบินใหม่อีก 2 ลำในช่วงครึ่งปีหลัง ฟื้นเส้นทางบินกัวลาลัมเปอร์ในไตรมาส 4 พร้อมทุ่มกว่า 2.3-2.4 พันล้านบาท เสริมศักยภาพสนามบินสมุย-ตราด
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีดีมานด์ (อุปสงค์) การเดินทางทางอากาศเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก และแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัท

ตั้งเป้ารายได้ปี’68 โต 8-9%
นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า สำหรับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สนั้น คาดว่าในปี 2568 นี้จะมีจำนวนเที่ยวบินรวม 48,077 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน เพิ่มจากปี 2567 ที่มีจำนวน 4.3 ล้านคน ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง โดยตั้งเป้ารายได้เติบโตที่ 8-9%
“แนวโน้มการเดินทางในปีนี้ เส้นทางสมุยยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14% โดยบริษัทวางแผนกลับมาให้บริการเส้นทางสมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 นี้ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์” นายพุฒิพงศ์กล่าว
White Lotus ดันยอดสมุยพุ่ง
นายพุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ซีรีส์เรื่อง The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งมีการถ่ายทำในสถานที่สวยงามของประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) เผยแพร่ทั่วโลกตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจและเดินทางเข้ามาเที่ยวสมุย (สุราษฎร์ธานี) เพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของสนามบินและสายการบินนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับอัตราการจองที่พักของโรงแรมต่าง ๆ เช่น อันตรา สมุย, โฟร์ซีซั่น สมุย ฯลฯ ต่างก็มีอัตราการจองห้องพักเพิ่มขึ้น และเชื่อมั่นจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ เป็นต้นไป หลังจากที่ซีรีส์ดังกล่าวจบลง
เตรียมเพิ่มฝูงบินปีนี้อีก 2 ลำ
นายพุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า ปีนี้สายการบินมีแผนเพิ่มฝูงบินใหม่จำนวน 2 ลำในช่วงครึ่งหลัง ทำให้มีจำนวนเครื่องบินรวมในปีนี้ 25 ลำ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และในระยะต่อไปมีแผนจะปรับฝูงบิน (Refleet) เครื่องบินรุ่น ATR72-600 รวมทั้งสิ้น 12 ลำ โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบระหว่างปี 2569-2571
“ปัจจุบันบริษัทให้บริการเที่ยวบินสู่ 19 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วยภายในประเทศ 11 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และจุดหมายปลายทางต่างประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู และฉงชิ่ง” นายพุฒิพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลก
ทุ่มพัฒนาสนามบิน สมุย-ตราด
ในส่วนการพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบินนั้น บริษัทมีแผนและพัฒนาสนามบิน 2 แห่ง รวมมูลค่าประมาณ 2,300-2,400 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ภายใต้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยเพิ่ม Gate (ทางออกขึ้นเครื่อง) จาก 7 เป็น 11 Gate บริหารจัดการทางเข้า-ทางออกให้มีความสะดวกขึ้น รวมถึงปรับปรุงอาคารผู้โดยสารให้มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น
รวมถึงเพิ่มพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร จาก 2,000 ตารางเมตร เป็น 4,000 ตารางเมตร ฯลฯ และอาคารรองรับผู้โดยสารเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) ด้วย ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3/2568 นี้ และคาดว่าแล้วเสร็จภายใน 3 ปี รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี
และ 2.สนามบินตราด มีแผนขยายรันเวย์เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินแบบไอพ่น หรือเครื่อง A320 ได้ รวมถึงทำพื้นที่จอดเครื่องบินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยกำหนดงบฯลงทุนไว้ประมาณ 800-900 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในอนาคตด้วย
จับมือการบินไทยลุย “ศูนย์ซ่อม”
สำหรับแผนการลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทและบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไปเรียบร้อยแล้ว โดยกรอบการลงทุนเบื้องต้นในเฟสแรกมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการลงทุน 60:40 โดยการบินไทยถือหุ้น 60% ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส 40%
ดีมานด์เดินทางจากต่างประเทศยังสูง
นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด กล่าวเสริมถึงแผนการขายในปีนี้ว่า บริษัทจะมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและรายได้ โดยคาดการณ์ส่วนแบ่งช่องทางการขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์เป็นสัดส่วน 28% และช่องทางอื่น 72% (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) โดยเป็นการขายผ่านช่องทางเชื่อมต่อตรงผ่านระบบ 32% ตลาดภายในประเทศ 18% และตลาดต่างประเทศ 50%
“จากคาดการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังมีความต้องการสูงและยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งได้วางแผนการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศกลุ่มใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกออกเฉียงใต้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศในแถบละตินอเมริกา และตุรกี โดยปัจจุบันบริษัทมีสำนักงาน GSA รวมทั้งสิ้น 26 แห่งทั่วโลก” นางสาวอมรรัตน์กล่าว
ชูการขาย 4 กลยุทธ์หลัก
โดยกลยุทธ์การขายนั้นหลัก ๆ ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะการต่อยอดการขาย จากกระแสซีรีส์ “White Lotus Season 3” โดยจับกลุ่มลูกค้าที่ตามรอยซีรีส์ เน้นกลุ่มประเทศ อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย รวมถึงตลาดที่เติบโตสูง เช่น คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตลาดที่มีฟรีวีซ่า เช่น อินเดีย และจีน
การขยายการเชื่อมต่อตรงผ่านระบบกลุ่ม API/NDC/Direct Connect ให้มากขึ้น เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับสายการบินในยุคดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ขายผ่านแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร ซึ่งเป็นการขายร่วม (Codeshare) บนบัตรโดยสารของสายการบินพันธมิตรผ่านช่องทางบนระบบแบบเชื่อมต่อตรง และช่วยขยายช่องทางการขาย และเพิ่มฐานลูกค้าแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร เริ่มจากสายการบินแควนตัสบนระบบ QDP และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อขยายความร่วมมือต่อไป เช่น สายการบิน Thai Airways, British Airways, Lufthansa Group, Emirates, Etihad, Eva Air เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร
รวมทั้งเตรียมปรับโฉมระบบสำรองที่นั่งออนไลน์ใหม่ เป็น RefX (Reference Experience) หรือ Digital Commerce พัฒนาโดยบริษัทอะมาดิอุส เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลเที่ยวบิน ราคา และบริการเสริมได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น