“สตูล” ดัน Gastronomy Tourism ปลุกกระแส “ท่องเที่ยวชุมชน”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สำรวจและจัดทำเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (gastronomy tourism) พร้อมคัดเลือกมาจาก 55 เมืองรองจำนวน 10 เส้นทาง 10 จังหวัด กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ อาทิ ตาก, สุรินทร์, ตราด, ราชบุรี, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ลพบุรี, ระนอง, สตูล เป็นต้น

สัมผัสเส้นทางอาหารถิ่น

โดยในจำนวน 10 เส้นทางนี้ ทาง ททท.ได้คัดเลือกเหลือ 5 เส้นทาง พร้อมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง ซึ่งประกอบด้วย ตาก, สุรินทร์, ตราด, ลพบุรี และสตูล ซึ่งโครงการนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปสำรวจเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน จังหวัดสตูล โดยสถานที่ที่ทาง ททท.นำไปสัมผัสและเปิดประสบการณ์ “อาหารถิ่น” ได้แก่ ชุมชนมุสลิมบ้านควน หมู่ 5 ต.บ้านควน อ.เมือง ที่นี่ชุมชนต้อนรับคณะของ ททท. ด้วยขนมบุหงาบุตะ (ขนมดอกลำเจียก) ทำจากส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียว มะพร้าวทึนทึก น้ำตาลทราย เกลือ น้ำ ซึ่งขนมดังกล่าวนี้นิยมทำขึ้นในช่วงเทศกาลและพิธีงานสำคัญของชุมชน อาทิ งานแต่ง เป็นต้น

ตามด้วยข้าวมัน แกงตอแมะห์ ซึ่งเป็นข้าวที่หุงกับกะทิ เมนูรับแขกบ้านแขกเมืองของชาวสตูล และเป็นอาหารหลักประจำบ้าน แกงกรุหม่า แกงที่ใช้เครื่องเทศเข้มข้นมาก ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น แพะ วัว แกะ ฯลฯ เป็นอีกเมนูพื้นถิ่น ต้นตำรับเป็นอาหารจากอินเดีย นิยมทำขึ้นเวลามีงานบุญตามประเพณี หรือวันสำคัญทางศาสนาแกงปัจรี หรือแกงสับปะรด เป็นอีกเมนูพื้นเมืองของคนสตูล และเป็นเมนูที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ซึ่งนิยมใช้เป็นเมนูเลี้ยงรับรองในงานเทศกาลต่าง ๆ

จากนั้นไปสัมผัสชุมชนท่องเที่ยวบ้านบ่อเจ็ดยอด พร้อมต่อเรือมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติหมูเกาะเภตรา เพื่อสัมผัสวิถีชุมชน

วันที่ 2 คณะเราเดินทางไปชมวิถีชีวิตชุมชนชาวทะเลบ้านบากันใหญ่ เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูลชมสันหลังมังกรแดง หรือทะเลแหวก อีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์กลางทะเล และเมนูอาหารจานเด็ดของชุมชนบ้านบากันใหญ่คือ แกงปูกะทิ พร้อมทั้งเมนูอาหารทะเลสด ๆ จากทะเลกันเลยทีเดียว

เร่งบูมท่องเที่ยวทางบก

“ปทิตตา ตันติเวชกุล” ผู้อำนวยการกองเผยแพร่ความรู้ด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องที่กำหนดขึ้นมาเป็นเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (gastronomy tourism) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เส้นทางอาหารถิ่น หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

โดย ททท.ได้หันมาทำการตลาดส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการโฟกัสเรื่องอาหาร ผ่านหลาย ๆ โครงการ อาทิ อะเมซิ่ง ไทย เทส โครงการสตรีตฟู้ด ฯลฯ ล่าสุดคือ โครงการมิชลินไกด์ และปีนี้คือ โครงการเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันเอง

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสตูลส่วนใหญ่จะไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะและตะรุเตาเป็นหลัก มีจำนวนวันท่องเที่ยวเฉลี่ยที่ราว 2 วันครึ่ง โจทย์ใหญ่ของเราคือ ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มวันพักของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น และทำให้นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสตูลอยู่เที่ยวบนบกด้วย ททท.จึงมองว่าโครงการเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน จะตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี”

และนอกจากโครงการเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนานแล้ว ขณะนี้จังหวัดสตูลยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เข้ามาเสริมอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะอุทยานธรณี (Geo Park) ถ้ำเล สเตโกดอน ซึ่งเพิ่งได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทาง ททท.เองได้อยู่ระหว่างการหารือและทำแผนเพื่อทำเส้นทางท่องเที่ยว รวมถึงแนวทางการทำประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้

ตั้งเป้าปี”61 รายได้พุ่ง 1 หมื่น ล.

“มูสา ยะโกะ” รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ (สงขลา-สตูล) กล่าวเสริมว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาจังหวัดสตูลมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน สร้างรายได้รวมประมาณ 8,000 ล้านบาท

“ศักยภาพของสตูลนอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่โดดเด่นอย่างเกาะหลีเป๊ะ และเกาะตะรุเตาแล้ว ปัจจุบันยังมีชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวทางบกอีกกว่า 20 ชุมชน รวมถึงอุทยานธรณีสตูล จีโอพาร์ค จึงคาดว่าปี 2561 นี้จังหวัดสตูลจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ราว 8-10% หรือสร้างรายได้ราว 1 หมื่นล้านบาท

“สำหรับสตูลถือว่าชุมชนท่องเที่ยวของเรามีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวมาก ทุกชุมชนท่องเที่ยวจะบริหารและดูแลโดยวิสาหกิจชุมชน ไม่ได้เป็นบริษัททัวร์ ซึ่งเรามองว่าจุดนี้เราอยากให้เป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับชุมชนท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ด้วย”

พร้อมทั้งร่วมกันประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชน ชิมอาหารถิ่น ให้นักท่องเที่ยวรับรู้ว่า มาเที่ยวสตูล ไม่ได้มีแค่ทะเล ยังมีเสน่ห์ของวิถีชุมชนให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัสอีกด้วย