
“รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ขึ้นแท่นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย เผยเป็นการยกระดับมาตรฐานใหม่ของการท่องเที่ยวหรูหราและยั่งยืน ชูนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าสู่การเป็น Carbon Neutral ภายในปีหน้า ย้ำบทบาทผู้นำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก
นายกูลู ลาวานี ประธานบริหาร รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) ผู้ให้บริการท่าจอดเรือยอชต์รายใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ได้รับการรับรองเป็นท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนต่อเนื่องจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ของประเทศไทย นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการสร้างมาตรฐานใหม่ของการท่องเที่ยวยั่งยืน และเป็นตัวอย่างสำคัญของการผสานระหว่างการท่องเที่ยวหรูหราและความยั่งยืนอย่างแท้จริง
โดยไม่เพียงแค่เป็นการตอกย้ำการมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของโครงการที่ยืนหยัดในการสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินเรือของเอเชีย การได้รับรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินเรือในภูมิภาคเอเชีย
“รางวัลดังกล่าวยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของโครงการที่มุ่งมั่นในการสร้างการท่องเที่ยวที่หรูหราและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกด้วย”
ชูนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน
นายกูลูกล่าวว่า หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของ RPM คือการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตพลังงานได้ถึง 38% ของความต้องการพลังงานประจำวันในท่าจอดเรือ พร้อมทั้งการใช้เทคโนโลยี Seabin V5 ที่สามารถดักจับเศษซากลอยน้ำและไมโครพลาสติกในทะเลได้มากถึง 48 กิโลกรัมต่อวัน จากการทำงานของเรือ 2 ลำที่ออกปฏิบัติการทุกวัน
นอกจากนี้ ยังมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสถานที่ซึ่งจะสามารถรองรับการชาร์จ 100% จากพลังงานหมุนเวียนในปี 2026
“ในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม RPM ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบที่ดีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก โดยมีการจัดการขยะอย่างมีระเบียบ ระบบการกักเก็บน้ำฝนสำหรับใช้ในการทำความสะอาดเรือ และการลดการใช้พลาสติกในพื้นที่ เช่น การจัดตั้งจุดเติมน้ำดื่มฟรี และการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในชุมชนท้องถิ่น” นายกูลูกล่าว
ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพอากาศโดยทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยได้รับดัชนีคุณภาพอากาศในระดับ 8-11 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นค่าคุณภาพอากาศที่ดีเยี่ยมและเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวและชาวไทยสามารถมั่นใจได้ในการเยือนสถานที่แห่งนี้
มุ่งเป้าสู่ Carbon Neutral
นายกูลูกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutral หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีนี้ โดยท่าจอดเรือสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการดำเนินงานได้ถึง 55% ซึ่งจะเพิ่มเป็น 100% ในปี 2026
โดย RPM ยังคงพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากขึ้น โดยยังคงรักษามาตรฐานการให้บริการที่หรูหราและมุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้กับผู้มาเยือนจากทั่วโลก
“ไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ แต่เรายังลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อความยั่งยืน เช่น การเพิ่มจำนวนเรือ EV ในปีหน้า โดยมีแผนที่จะใช้เรือ EV ใหม่จำนวน 7 ลำ พร้อมกับการเพิ่มปริมาณการเก็บขยะจากทะเลให้มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยมีการวัดสถิติการชดเชยคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างต่อเนื่อง” นายกูลูกล่าว