ทอท.ปั้นสุวรรณภูมิฮับ “คาร์โก้” ตั้งบ.ลูกบริหาร-ยันประมูลดิวตี้ฟรีทันสิ้นปี

ทอท.กางแผนรุกธุรกิจ “คาร์โก้” ปั้นไทยขึ้นแท่นคาร์โก้ฮับของภูมิภาค รับธุรกิจอีคอมเมิร์ซบูมทั่วโลก เตรียมทำมาสเตอร์แพลน-ทีโออาร์จัดตั้งบริษัทลูกบริหาร พร้อมเร่งศึกษาข้อดี-ข้อเสีย

ทีโออาร์ประมูล “ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ” ทุกรูปแบบ ยันได้ผู้ประกอบการใหม่ภายในปีนี้แน่นอน ขณะที่แผนพัฒนาสนามบินในเครือข่ายทั้ง 6 แห่งยังคงเดินหน้าตามแผนเดิม เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้อีกเท่าตัวที่ 185 ล้านคนภายในปี”65

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาธุรกิจของ ทอท.ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและทำมาสเตอร์แพลนสำหรับการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะงานด้านขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ซึ่งเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของ ทอท. เพื่อให้เกิดการทำงานบูรณาการระหว่างกันของท่าอากาศยานภายใต้การบริหารทั้ง 6 แห่ง

รุกขยายธุรกิจคาร์โก้

เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในทุกภูมิภาคทั่วโลก บริษัทจึงมีแผนการพัฒนาเพื่อรองรับกับการเติบโตของธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ และให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล

โดยขณะนี้บริษัทได้จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (certify hub) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางให้เป็นมาตรฐานสากล โดยการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากร หรือ (ฟรีโซน) ในการกระจายสินค้าในกลุ่มภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการส่งออกและลดปัญหาจากการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของธุรกิจคาร์โก้

เร่งทำทีโออาร์จัดตั้งบริษัทลูก

นายนิตินัยกล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น หลังจากที่บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน หรือ Sister Airport Agreement กับ Liege Airport S.A. ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่อยู่จุดกึ่งกลางระหว่างเมืองหลักของภูมิภาคยุโรปและมีจุดแข็งในการบริหารคาร์โก้ไปแล้ว ในเดือนกรกฎาคมนี้บริษัทจะจัดสัมมนา CEO Forum โดยเชิญประเทศเพื่อนบ้านให้มาใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งหาข้อมูลด้านดีมานด์ หรือที่เรียกว่า market sounding ของผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศ CLMV และขั้นตอนต่อจากนั้นคือจะจัดทำทีโออาร์จัดตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหารต่อไป โดยตั้งเป้าว่าจะได้ผู้มาดำเนินการภายในสิ้นปีนี้

“รูปแบบการลงุทน ทอท.จะเป็นเจ้าของที่ดิน คงไม่ได้ใช้งบฯลงทุนมากนัก ส่วนพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมจัดตั้งบริษัทลูกนั้นจะต้องเป็นผู้บริหารด้วย โดยเรามีแผนจะปั้นให้คาร์โก้ที่สุวรรณภูมิเป็นฮับของการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคนี้ด้วย” นายนิตินัยกล่าว

ยันได้ผู้ประมูลดิวตี้ฟรีใหม่สิ้นปี

นายนิตินัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าสำหรับการดำเนินการเปิดประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรีที่กำลังจะหมดสัญญาในปลายปี 2563 นี้ว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการทำการศึกษารูปแบบการเปิดประมูลทุกรูปแบบ แต่ยังไม่สมบูรณ์นักจึงต้องชะลอแผนออกไปอีกเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุด และได้แนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเปิดประมูลครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้รายละเอียดและจัดทำร่างทีโออาร์เสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ และจะพยายามให้ได้ผู้ประกอบการรายใหม่ภายในปลายปีนี้

“ตอนนี้เราต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบที่สุด ซึ่งระหว่างนี้เราก็ยังเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากคนทั่วไปด้วย ใครมีไอเดียอะไร อย่างไร ก็สามารถเสนอแนะมาได้ เพื่อจะได้นำไปเป็นไอเดียสำหรับปรับปรุงทีโออาร์ต่อไป ส่วนระยะเวลาของสัมปทาน จะมีอายุกี่ปีนั้น คงต้องประเมินจากระยะเวลาในการคุ้มทุนของผู้ประกอบการด้วย”

เร่งพัฒนา 6 สนามบินตามแผน

สำหรับแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งภายใต้การบริหารนั้น นายนิตินัยกล่าวว่า

บริษัทยังคงเดินหน้าตามแผนเดิมภายใต้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท (ปี 2559-2565) โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะใช้งบประมาณมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 50% ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.สุวรรณภูมิ เฟส 2 (อาคารแซทเทลไลท์) ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563

2.รันเวย์ 3 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการและเปิดใช้ได้ในปี 2564 ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 92 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และ 3.อาคารผู้โดยสาร 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการอาคารผู้โดสารหลังที่ 2 จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับได้ที่ 90 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปัจจุบัน

“ส่วนท่าอากาศยานอื่น ๆ แผนการพัฒนาก็จะแล้วเสร็จพร้อม ๆ กันในปี 2565 และทำให้ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมดที่ 185 ล้านคนต่อปี” นายนิตินัยกล่าว และว่า นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เสนอแผนเข้าบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย อุดรธานี, สกลนคร, ตาก และชุมพร

ลดแออัด “ดอนเมือง”

นายนิตินัยกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองด้วยว่า เนื่องจากท่าอากาศยานดอนเมืองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นท่าอากาศยานโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้บริษัทมีแผนดำเนินการโครงการเร่งด่วน คือ เตรียมก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ บริเวณที่จอดรถบัส ระหว่างอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมืองและอาคาร 1 เพื่อใช้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเป็นกลุ่มในเส้นทางระหว่างประเทศ เพื่อลดความหนาแน่นของผู้โดยสารในอาคารผู้โดยสาร คาดว่าจะให้เสร็จในสิ้นปีนี้ หรือช้าสุดคือก่อนเทศกาลตรุษจีน

“ระหว่างการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ เราจะดำเนินการทุบอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเดิมที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และเชื่อมต่อกับจังก์ชั่นเทอร์มินอลที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง จากนั้นเราก็จะโยกส่วนของผู้โดยสารภายในประเทศให้มาอยู่ที่อาคาร 1 แทน และโยกบริการอินเตอร์มาอยู่ในส่วนของอาคารหลังใหม่และอาคาร 2 เพื่อให้ส่วนของอินเตอร์มีพื้นที่รองรับที่ใหญ่ขึ้น” นายนิตินัยกล่าว