รมว.ท่องเที่ยวฯสั่งเร่งเฟ้น มาตรการ “ปลอดภัย” ทางน้ำ

“ก.ท่องเที่ยวฯ” เฟ้นมาตรการเร่งด่วนรักษาความปลอดภัยทางน้ำ เทียบชั้นขั้นตอนขึ้นเครื่องบิน ป้องกันซ้ำรอยอุบัติเหตุเรือล่ม พร้อมเร่งจัดทำมาตรการควบคุมปัญหานอมินีทั้งระบบ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงได้มอบหมายให้ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กองทัพเรือภาคที่ 3 กรมเจ้าท่า กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกมาตรการเร่งด่วนป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มซ้ำอีก

โดยมีแนวคิดให้การเทียบหามาตรฐานขั้นตอนด้านความปลอดภัย (safety procedure) หรือเช็กลิสต์ที่ใช้ในการเดินทางของเรือโดยสารขนาดต่าง ๆ ในสากล ให้เทียบกับระบบความปลอดภัยการเดินอากาศว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง จากนั้นนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพงานของไทย โดยมีมาตรการอื่น ๆ รองรับตามความจำเป็น

ด้านนายอภิชาติ จีระพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงมรสุม ทางกรมเจ้าท่าจะปักธงแสดงสัญลักษณ์ว่าสามารถออกเรือได้หรือไม่ หากทางกรมเจ้าท่าปักธงแดงซึ่งหมายถึงห้ามออกเรือโดยเด็ดขาด ทางเจ้าของเรือต้องให้ความร่วมมือด้วยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย และก่อนออกเรือต้องมีการอบรมให้ผู้โดยสารรับทราบถึงการดูแลความปลอดภัยของตัวเองทุกครั้งเหมือนกับการขึ้นเครื่องบิน และเสื้อชูชีพที่ใช้บนเรือต้องมีมาตรฐาน ส่วนลูกเรือและกัปตันต้องสามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้ในเวลาเกิดเหตุ

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจโดยใช้ไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น นายอภิชาติกล่าวว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำมาตรการควบคุมปัญหานอมินีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นได้กำหนดให้ยื่นเสนอกลับมาภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนมาตรการระยะยาว จะเป็นเรื่องของการแก้กฎหมาย โดยจะมีการดูทั้งในเรื่องของกฎหมายจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัท

ขณะที่นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อร่วมกันตรวจสอบขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจว่าเข้าข่ายนอมินีร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

(ดีเอสไอ) ด้วยการพิจารณาตั้งแต่การยื่นเอกสารจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทว่าถูกต้องหรือไม่ ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ แต่ละคนถือครองหุ้นในสัดส่วนเท่าใด กรรมการในบริษัทเป็นใครบ้าง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการตรวจสอบพฤติกรรมและกระแสเงินสดหมุนเวียนของแต่ละบริษัทต่อไป

“จากสถิติของกรมการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องทั้งหมด 1.2 หมื่นราย พบว่ามีบริษัทที่เข้าข่ายนอมินีราว 20% ของยอดจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ราว 30 รายต่อเดือน โดยทางกรมได้จับตาดูกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่การจะดำเนินมาตรการใดนั้น ต้องคำนึงถึงบรรยากาศและทิศทางการท่องเที่ยวของไทยในภาพรวมด้วย” นายอนันต์กล่าว