เกือบ 1 ปีแล้วที่สายการบิน “นกแอร์” ได้เปลี่ยนตัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ จาก “พาที สารสิน” เป็น “ปิยะ ยอดมณี” ผู้ร่วมปลุกปั้นสายการบินนกแอร์มาด้วยกันตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
ระยะเวลา 11 เดือนที่ผ่านมา “ปิยะ” ได้เดินหน้าแก้โจทย์เรื่องการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย พร้อมทั้งเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์นกแอร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกฟื้น (turn around) องค์กรโดยเร่งด่วนโดยได้มุ่งเน้นสร้างเครือข่ายเส้นทางบินให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยกรุ๊ป (THAI Group) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสายการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์ รวมถึงนกสกู๊ต ซึ่งถือหุ้นโดยนกแอร์ รวมทั้งพันธมิตรในกลุ่มแวลู อัลไลแอนซ์ (Value Alliance) ซึ่งทำให้นกแอร์ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค ด้วยการเปิดตัวโครงการ “นกเลือกได้” ซึ่งเป็นการเปิดกลยุทธ์ personalize ที่ให้ผู้โดยสารดีไซน์การเดินทางที่เหมาะกับตัวเอง และเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ นกบินเบา ๆ (Nok Lite) สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมีเพียงแค่สัมภาระติดตัวไม่เกิน 7 กิโลกรัม มีน้ำดื่มบนเครื่อง นกสบาย (Nok X-tra) สำหรับคนที่มีกระเป๋าขึ้นเครื่อง และโหลดสัมภาระเพิ่มเติม 15 กิโลกรัม สำหรับเส้นทางในประเทศ และ 20 กิโลกรัม สำหรับเส้นทางต่างประเทศ และ นกเพลิดเพลิน (Nok MAX) เป็นบริการแบบ full service สามารถโหลดกระเป๋าได้เหมือนนกสบาย และมีอาหารร้อนเสิร์ฟบนเครื่อง
โดยก่อนหน้านี้ “ปิยะ” ให้ข้อมูลว่า การปรับรูปแบบการจองบัตรโดยสารและแผนการตลาดใหม่ ๆ ทำให้นกแอร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจได้มากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงกลุ่ม
เป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม และสามารถควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี และเป็นส่วนหนี่งที่ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของสายการบินดีขึ้น
และล่าสุดสายการบินนกแอร์ได้ผนึกกำลังกับ “นกสกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำระหว่างประเทศ เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร ลดขั้นตอนการจองตั๋วให้สั้นลง ด้วยบริการแบบอินเตอร์ไลน์ (interline) ในเส้นทางเชียงใหม่-โตเกียว, หาดใหญ่-โตเกียว, เชียงใหม่-ไทเป และหาดใหญ่-ไทเป
“ปิยะ” บอกว่า ระบบการจองตั๋วการเดินทางแบบ interline เป็นการจองตั๋วการเดินทางที่มีมากกว่าหนึ่งสายการบิน แต่สามารถคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ www.nokair.com ก็สามารถจองตั๋วของนกแอร์และนกสกู๊ตได้เสร็จในเว็บเดียว พร้อมเชื่อมโยงเส้นทางบินให้บินได้ไกลถึงต่างประเทศได้ตามเป้าหมาย ระบบดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารที่อยู่เชียงใหม่ หรืออยู่หาดใหญ่ เดินทาง
ไปโตเกียว หรือไทเปได้ง่ายขึ้น โดยเดินทางจากต้นทางสู่กรุงเทพฯที่สนามบินดอนเมือง และต่อเครื่องไปยังโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือไทเป ประเทศไต้หวัน ได้เลย ที่สำคัญ ไม่ต้องกังวลเรื่อง
โหลดกระเป๋าใหม่ ด้วยบริการ check-through baggage และเพิ่มความพิเศษให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการรับฟรีไมล์สะสม Royal Orchid Plus (ROP) จากการบินไทย
โดยผู้โดยสารสามารถสำรองบัตรโดยสาร interline ของนกแอร์ และนกสกู๊ต สามารถชำระค่าบัตรโดยสารได้ผ่านบัตรเครดิต, direct debit, เคาน์เตอร์เซอร์วิส และ ATM พร้อมทั้งยังเลือกที่นั่งที่ต้องการได้หลังจากที่สำรองบัตรโดยสารเรียบร้อยแล้ว โดยเข้าไปที่หน้าจัดการบุ๊กกิ้งที่ www.nokair.com สำหรับเที่ยวบินของนกแอร์ และ www.nokscoot.com สำหรับเที่ยวบินของนกสกู๊ต สำหรับน้ำหนักกระเป๋าเดินทางนั้น ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่องได้ 20 กิโลกรัม ทั้งเที่ยวบินของทั้งนกแอร์ และนกสกู๊ต หรือหากต้องการซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม สามารถทำได้ที่เมนูจัดการบุ๊กกิ้งตามที่กล่าวไปข้างต้น
“เมื่อทำการเช็กอิน หากเป็นการเดินทางออกจากสนามบินในประเทศ ผู้โดยสารจะได้รับ boarding pass สำหรับทุกเที่ยวบินจนถึงจุดหมายปลายทางขณะเช็กอินที่ต้นทาง ส่วนการเดินทางออกจากสนามบินต่างประเทศ ผู้โดยสารจะได้รับ boarding pass สำหรับเที่ยวบินแรก และจะต้องมารับ boarding pass สำหรับเที่ยวบินใหม่ที่สนามบินดอนเมือง”
นับเป็นการผนึกกำลังของสายการบินในเครือข่ายอีกสเต็ปหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับสายการบินไทย ด้วยการเปิดแคมเปญ “นกแอร์ เปลี่ยนรอยยิ้มให้เป็นไมล์” ให้ผู้โดยสารที่บินกับสายการบินนกแอร์สามารถสะสมไมล์ Royal Orchid Plus (รอยัล ออร์คิด พลัส : ROP) ไปพร้อมกับคะแนนสะสม Nok Point (นกพอยต์) ไปแล้ว เมื่อ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นการยกระดับสิทธิประโยชน์ให้กับผู้โดยสารสมาชิกนกแฟนคลับที่มีมากกว่า 4 แสนคน และรอยัล ออร์คิด พลัส ที่มีกว่า 3.5 ล้านคนทั่วโลก อีกทั้งยังช่วยขยายฐานผู้ใช้บริการนกแอร์ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยมีเป้าหมายกวาดรายได้สำหรับปี 2561 นี้ ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท และจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 9 ล้านคน…