บินไทยเร่งศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา จ่อสรุปผู้ร่วมทุนสิ้นปีนี้-เปิดเฟสแรกปี”65

เร่งความคืบหน้า “ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน”อู่ตะเภา “การบินไทย” เตรียมสรุปพันธมิตรร่วมทุน-พร้อมเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ เบื้องต้นมูลค่าการลงทุนราว 4 พันล้านบาท คาดเปิดดำเนินการเฟสแรกได้ในปี”65 ตามแผนรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้สูงสุด 80-100 ลำต่อปี

นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) ว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะสรุปพันธมิตรที่เข้าร่วมลงทุนกับการบินไทยได้ภายในอีก 3 เดือนข้างหน้า และคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือนธันวาคม 2561 นี้ โดยทางรัฐบาลได้เร่งรัดให้โครงการนี้คืบหน้าเร็วที่สุด

รัฐเร่งความคืบหน้าโครงการ

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้วางกรอบมูลค่าเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท โดยการบินไทยและพันธมิตรจะถือหุ้นฝั่งละ 50% ซึ่งการบินไทยจะใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนด้านอะไหล่และอุปกรณ์การซ่อมอากาศยาน

“ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการในการคัดเลือกพันธมิตรร่วมลงทุนกับการบินไทย ซึ่งก็มีพูดคุยกันอยู่หลายราย เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมการบินของโลก อาทิ แอร์บัสที่จับมือกับการบินไทยทำการศึกษาโครงการนี้ร่วมกัน เป็นต้น”

นายสุรชัยกล่าวว่าตามแผนภาครัฐจะใช้เงินลงทุนกว่า 6,300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ดำเนินการ 210 ไร่ อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ และอยู่ภายใต้นโยบายเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกคาดเปิดเฟสแรกได้ในปี”65

ทั้งนี้ คาดว่าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งนี้จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 ตามแผนเปิดให้บริการในระยะ (เฟส) แรก ตั้งแต่ปี 2565-2583 ซึ่งสามารถรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้สูงสุด 80-100 ลำต่อปี ก่อนจะขยายโครงการเพิ่มในเฟส 2 หลังจากปี 2583 เป็นต้นไป

โดยในช่วงแรกที่เปิดดำเนินการนั้นจะได้ลูกค้าสายการบินที่ให้บริการในประเทศ เพราะปัจจุบันมีการส่งอากาศยานไปซ่อมบำรุงที่ต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงลูกค้าสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น เวียดนาม ที่อุตสาหกรรมการบินมีการขยายตัวดี หลังสายการบินในเวียดนามสั่งซื้ออากาศยานจำนวนมาก รวมถึงประเทศอื่น ๆ อย่างญี่ปุ่นที่มีต้นทุนค่าแรงแพงกว่า

10 ปีแรกขอมาร์เก็ตแชร์ 4%

“ช่วงปีแรก ๆ ที่เปิดดำเนินการจะสามารถรับซ่อมบำรุงอากาศยานได้มากกว่า 10 ลำต่อปี เน้นเครื่องลำตัวกว้าง เช่น แอร์บัส A350, แอร์บัส A380 และโบอิ้ง 787 ทำให้มีรายได้ 400-500 ล้านบาทต่อปี ตอนนี้ประเมินแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 2% ต่อปี คืนทุนได้ใน 11 ปี และสามารถสร้างรายได้รวมในช่วง 50 ปี กว่า 2 แสนล้านบาท”

นายสุรชัยกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตปีละ 5-10% โดยสิงคโปร์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 6% ของมูลค่าตลาดในเอเชียซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 9-10 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท) โดยการบินไทยวางเป้าหมายให้บริษัทร่วมทุนที่กำลังจะจับมือกับพันธมิตรครั้งนี้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ได้เป็น 4% ใน 10 ปีแรก ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับรายได้จากการซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทยซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากลูกค้าภายนอก 3,000 ล้านบาท

สัญญา “บินไทย-ทัพเรือ” สะดุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ตามกำหนดการจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นว่าด้วยการให้สิทธิแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบกิจการบนพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษระหว่างการบินไทย, กองทัพเรือ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่ได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งภายหลังได้รับแจ้งว่านางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ป่วยกะทันหัน จำเป็นต้องเลื่อนพิธีลงนามออกไปก่อน เพราะเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ระบุว่าต้องให้ดีดีเป็นผู้ลงนาม

อย่างไรก็ตาม การลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นดังกล่าวนี้ เป็นการดำเนินการในลำดับถัดมาต่อจากการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะใช้นำไปประกอบการเสนอขอความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

หวังใช้เป็นโครงการนำร่อง

พร้อมทั้งรับมอบสิทธิ์จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกองทัพเรือให้แก่การบินไทยในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อประกอบกิจการบนพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับการบินไทย ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ซ่อมฯดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเป็นโครงการสำคัญยิ่งของประเทศไทย

อนึ่ง ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนี้จะเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความล้ำสมัย พร้อมรองรับเทคโนโลยีชั้นสูงของอากาศยานรุ่นใหม่ทุกรุ่นทุกขนาดในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมทั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานสากล รองรับการขยายตัวทางธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในทุกภูมิภาคของโลกในอนาคต