อพท.นำโมเดลท่องเที่ยวชุมชน ลดเหลื่อมล้ำ 3 จังหวัดชายแดนใต้

จากรายงานของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวและไปเยือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกันทั้งสิ้น 1.52 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 6.3 แสนคน และชาวต่างชาติ 8.97 แสนคน

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ของทั้ง 3 จังหวัดเป็นอย่างดี เพียงแต่ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในภาวการณ์ที่ไม่ค่อยปกติ มีสถานการณ์จากผู้ไม่หวังดีอยู่เป็นระยะ จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการยกระดับและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเท่าที่ควรจะเป็น

นำโมเดล CBT บูมชายแดนใต้

“พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ” รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน กล่าวว่า พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ประสบปัญหาความไม่มั่นคงในเศรษฐกิจและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ตนในฐานะผู้กำกับดูแลองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงมีแนวคิดนำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand มาใช้พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับความอยู่ดีมีสุขให้กับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ วัฒนธรรม-ประเพณีที่หลากหลาย ฯลฯ

จึงเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ที่สำคัญ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนในชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลได้ด้วย

ตั้งเป้า 3 ปีชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน

โดยจากข้อมูลพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้ง 3 จังหวัด มีชุมชนท่องเที่ยวอยู่มากกว่า 30 ชุมชน กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ การดึงเอายุทธศาสตร์ CBT Thailand เข้ามาพัฒนาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะร่วมกันยกระดับความเชื่อมั่นของพื้นที่ได้สัมผัสความงดงาม แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณีในพื้นที่

“การท่องเที่ยวถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะเปิดโอกาสและเชื่อมโยงคนนอกพื้นที่ให้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสความเป็นจริงของพื้นที่อย่างลึกซึ้ง โดยในปีแรกนี้ได้กำหนดชุมชนต้นแบบไว้ 6 ชุมชน อาทิ ชุมชนท่องเที่ยวจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ยะลา, ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว ปัตตานี, ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ปัตตานี, ชุมชนท่องเที่ยววัดชลธาราสิงเห นราธิวาส เป็นต้น และมีแผนเพิ่มอีก 9 ชุมชนในปี 2562 และเพิ่มอีก 12 แห่งในปี 2563 เพื่อให้ชุมชนท่องเที่ยวมีความแข็งแรงและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

“พล.อ.ฉัตรชัย” ยังบอกอีกว่า จากแนวคิดนี้จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กับ 8 หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

ผนึก 9 หน่วยงานลดเหลื่อมล้ำ

ด้าน “พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) บอกว่า ความร่วมมือในโครงการดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่ อพท., กระทรวงการท่องเที่ยวฯ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน รวมถึงสร้างความรักสามัคคีของคนในชุมชน พร้อมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับคนในชุมชนด้วย

“พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค” ยังบอกด้วยว่า 15 ปีที่ผ่านมา อพท.ได้มุ่งเน้นนำ “ท่องเที่ยวชุมชน” มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนผ่านการพัฒนาท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ โดยพบว่าชุมชนต้นแบบที่ อพท.เข้าไปพัฒนานั้น มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวโตถึง 38.5% มีระดับความอยู่ดี กินดี มีสุขของชุมชน ถึง 86.36%

ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสัมผัสชุมชนมีระดับความสุขมากกว่า 79.17% มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของทรัพยากรการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ 6 แห่งที่ อพท.ดูแลอยู่ มีมูลค่าแตะ 4.49 ล้านล้านบาท (ตัวเลข ณ ต้นปี 2561)

คาดเดินหน้าตามแผนได้ต้นปี”62

จากตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “การท่องเที่ยวชุมชน” เป็นเครื่องมือในการสร้างความสุข สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ดังกล่าวนี้ อพท.ในฐานะหน่วยงานประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนได้ทำแผนร่วมกับทุกหน่วยงานในเครือข่ายพันธมิตรที่เซ็นเอ็มโอยูเป็นสเต็ป โดยหลังจากนี้ทุกส่วนก็จะช่วยกันทำแผนท่องเที่ยวชุมชนสำหรับ 6 ชุมชนนำร่อง ทั้งทำการสำรวจวิจัยสินค้าท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุดตามยุทธศาสตร์ CBT Thailand ที่ อพท.บริหารและประสบความสำเร็จมาแล้ว จากนั้นคาดว่าน่าจะลงมือทำได้ราวต้นปี 2562

โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีนี้ คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีความรักสามัคคี มีรายได้จากการท่องเที่ยว มีระดับความอยู่ดีมีสุขและมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของทรัพยากรท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น…