AAV-นกแอร์เปิดตัวเลขQ2 ต้นทุนน้ำมันพุ่งทุบกำไรร่วง

“ไทยแอร์เอเชีย-นกแอร์” เปิดตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2/61 กำไรหดต่อเนื่อง แจงสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง “สันติสุข คล่องใช้ยา” ซีอีโอ AAV มั่นใจจะบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นในครึ่งปีหลังนี้

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และผู้บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หรือ TAA เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรกปี 2561 AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 20,896.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 698.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ TAA มีรายได้รวม 20,896.2 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิที่ 1,267.1 ล้านบาท

โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (load factor) ที่น่าพอใจอยู่ที่ร้อยละ 88 เท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขนส่งผู้โดยสารรวมไปแล้ว 10.95 ล้านคน สูงขึ้นร้อยละ 15 ทั้งนี้ หากดูผลประกอบการเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2561 AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,302.6 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 306.1 ล้านบาท ขณะที่ TAA มีรายได้รวม 9,302.5 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 567.5 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 37

อย่างไรก็ตาม สถิติการดำเนินงานยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 85 และขนส่งผู้โดยสารรวม 5.31 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย TAA ไม่ได้รับเครื่องบินเพิ่มในไตรมาสนี้ ทำให้ยังคงมีเครื่องบินประจำการ 59 ลำ โดยเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน 4 เส้นทางบินที่ออกจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) และ 1 เส้นทางบินที่ออกจากเชียงใหม่

“ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของทุกสายการบิน แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถปรับตัวได้และมีผลประกอบการที่น่าพอใจในครึ่งปีหลัง”

นายสันติสุขกล่าวว่า เมื่อดูจากส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางภายในประเทศยังพบว่า ไทยแอร์เอเชียยังรักษาความเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 33 โดยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาได้เปิดเส้นทางบินใหม่ไปแล้ว 7 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไประนอง, ยะโฮร์บาห์รู, เฉิงตู และชุมพร รวมถึงจากภูเก็ตไปมาเก๊าและคุนหมิง อีกทั้งจากเชียงใหม่ไปอุดรธานี เพื่อชิงความได้เปรียบการเติบโตในอนาคตต่อไป

สำหรับในครึ่งปีหลังนี้ มั่นใจว่าไทยแอร์เอเชียจะปรับตัวกับสถานการณ์น้ำมันได้ดียิ่งขึ้น และเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมองโอกาสในฐานปฏิบัติการการบินอื่น ๆ นอกกรุงเทพฯมาเสริมทัพ การนำเครื่องบินใหม่ไปประจำการที่เชียงใหม่เพิ่ม เพื่อเปิดบินตรงสู่เส้นทางระหว่างประเทศ เช่น บินตรงสู่ย่างกุ้ง ไทเป และฮานอย ซึ่งเปิดตัวไปแล้ว เป็นต้น

ด้านสายการบินนกแอร์ หรือ NOK จากรายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าไตรมาส 2 ปี 2561 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 4,841.07 ล้านบาท มีผลขาดทุน 1,095.93 ล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนของบริษัทใหญ่ 829.74 ล้านบาท และขาดทุนจากส่วนที่เป็นของส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 266.19 ล้านบาท

โดยผลขาดทุนของบริษัทใหญ่ มาจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่ารายได้ค่าโดยสารและรายได้จากการให้บริการ ซึ่งต้นทุนการดำเนินงานหลักของบริษัท ได้แก่ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอากาศยาน ในขณะที่รายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากการให้บริการจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการด้านรายได้จากการดำเนินงาน บริษัทมีรายได้รวม 3,354.69 ล้านบาท ลดลง 1.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้อื่น ๆ ซึ่งมาจากการรับรู้กำไรจากการขายและเช่ากลับคืนเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงานในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 126.05 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 1.88% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขรวม 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2561 พบว่า มีรายได้รวม 7,671.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6% ขาดทุนสุทธิ 774.68 ล้านบาท ลดลง 14.78%