“นกแอร์” เฟ้นกลยุทธ์แข่งขัน ฝ่าปัจจัยลบราคาน้ำมันขาขึ้น

ปิยะ ยอดมณี

คร่ำหวอดในวงการสายการบินมานานกว่า 32 ปี สำหรับ “ปิยะ ยอดมณี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ผู้รับไม้ต่อบริหารงานสายการบินแห่งนี้จาก “พาที สารสิน” เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ “ปิยะ ยอดมณี” ถึงภาพรวมและปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจสายการบินในปัจจุบัน ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา รวมถึงกลยุทธ์ของสายการบินนกแอร์ไว้ดังนี้

กระอักราคาน้ำมัน

“ปิยะ” บอกว่า ภาพรวมตลอดทั้งปีนี้ธุรกิจสายการบินทุกรายอยู่ในภาวะลำบากมาก จากผลกระทบเรื่องราคาน้ำมัน ทำให้คนทำธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวสู้ และเฟ้นกลยุทธ์มาแข่งขันกันอย่างหนักต่อไป เพื่อให้ก้าวผ่านสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมถึงประคับประคองธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดให้ได้

สำหรับสายการบินนกแอร์เองคาดหวังว่าปีนี้ควรจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่ตัวแปรหลักก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์จากผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ “ปิยะ” บอกว่า เฉพาะของ “นกแอร์” ขาดทุน 774.68 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 14.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 2.6%

โดยเส้นทางไปจีนสามารถสร้างรายได้เติบโตถึง 161.31% ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์สร้างความหลากหลายของเส้นทางบินเพื่อกระจายความเสี่ยง ด้วยการเปิดเส้นทางใหม่และเพิ่มเที่ยวบินไปจีนในช่วงกลางคืน ส่งผลให้นกแอร์สามารถเพิ่มกำลังการผลิตใน 6 เดือนแรกได้ 13.22% ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ออกจากฝูงบิน 4 ลำ ทำให้ปัจจุบันมีฝูงบินเหลือ 26 ลำเท่านั้น แต่สามารถทำการบินได้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ามีอัตราการใช้เครื่องบินอย่างคุ้มค่า (utilization) คือ เพิ่มจาก 7.89 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน เป็น 9.76 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 23.7%

ดีมานด์ผู้โดยสารพุ่งต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในส่วนของอัตราบรรทุกผู้โดยสาร หรือเคบินแฟกเตอร์ ก็ขยับไปอยู่ที่ 91.22% หรือเพิ่มขึ้น 6.41% ซึ่งการทำเคบินแฟกเตอร์ให้สูงถึงเลข 90 นั้นเป็นเรื่องยากมาก ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่นกแอร์เปิดให้บริการมา

จากแนวโน้มดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้โดยสารยังมีดีมานด์สูง ส่งผลให้นกแอร์สามารถขายตั๋วเครื่องบินได้ดีขึ้น และมียอดผู้โดยสารในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจำนวน 4.72 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 7.27%

ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีตัวเลขต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 0.72% เท่านั้น และเป็นต้นทุนที่รวมค่าน้ำมันแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างชัดเจน

“ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นจาก 63.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 83.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นถึง 31.10% ทำให้ต้นทุนน้ำมันของนกแอร์ช่วง 6 เดือนแรกสูงขึ้นจาก 1,973.70 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,528.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 28.12% แต่นกแอร์สามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 0.72% เท่านั้น

ถือว่าเป็นภาวะที่ “ดี” แบบมหาศาลมากในช่วงที่ต้นทุนน้ำมันพุ่งสูงขนาดนี้ บวกกับการแข่งขันในด้านราคาที่สูงมาก ทำให้รายได้ต่อหน่วยหรือยีลด์ ในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.91 บาทต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตร ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 1.96 บาทต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตร

เร่งขยายตลาด “จีน-อินเดีย”

“ปิยะ” บอกด้วยว่า เพื่อให้ภาพรวมของนกแอร์ปีนี้ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในครึ่งปีหลังนี้คือ การบุกตลาด “จีน” และ “อินเดีย” อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้โดยสารปีนี้ให้อยู่ที่ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 8.78 ล้านคน

โดยนกแอร์มีแผนจะเปิดเส้นทางใหม่ไปเมืองรองของอินเดีย 2 เส้นทาง ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดอื่น ๆ ขณะที่ตลาดจีน ปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่นกแอร์ขยายเส้นทางสู่เมืองจีนจำนวนมากนั้น ได้ทำการบินเส้นทางบินประจำ 11 จุดบินต่อวัน และเส้นทางบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) 8 จุดบินต่อวัน แต่พอเกิดอุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะตลาดกรุ๊ปทัวร์ ทำให้นกแอร์ต้องปรับลดเที่ยวบินเส้นทางประจำเหลือ 10 จุดบินต่อวัน ชาร์เตอร์ไฟลต์เหลือ 2 จุดบินต่อวัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาได้ทันเดือนตุลาคมนี้

“ที่ผ่านมาท่องเที่ยวไทยเจอวิกฤตมาตลอด ผลกระทบอาจจะแรง แต่ฟื้นตัวได้เร็ว จึงคาดว่าผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มในครั้งนี้จะฟื้นกลับมาได้เร็วเช่นกัน ทันช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น”

ทั้งนี้ วางเป้าหมายไว้ว่า ตลอดทั้งปี 2561 นกแอร์จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินให้คุ้มค่ามากขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ด้วยการนำไปบินในเส้นทางที่ไกลขึ้น เพื่อให้ต้นทุนลดลง และมั่นใจว่าจะช่วยทำให้สัดส่วนรายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศขยับเพิ่มจาก 30% เป็น 40% ขณะที่เส้นทางในประเทศจะมีสัดส่วนลดลงจาก 70% เป็น 60% ในต้นปี 2562

ปีแห่งการเติบโตที่แข็งแกร่ง

ซีอีโอนกแอร์ยังบอกอีกว่า สำหรับปี 2562 นี้จะเป็นปีแห่งการ “rebuild” หรือการเริ่มต้นใหม่เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น การขยายเครือข่ายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมภูมิภาคมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยนำจุดเด่นหรือจุดแข็งของสายการบินมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง มีการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้อื่น ๆ รวมทั้งมองหาช่องทางการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจ หรือสร้างรายได้ให้แก่สายการบิน

ด้านโจทย์ฟื้นความมั่นใจผู้โดยสารเรื่อง “ดีเลย์” นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ปัจจุบันอัตราความตรงต่อเวลาในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 87% เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ 67% ก่อนจะค่อย ๆ ไต่ระดับดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นกแอร์ยังได้ปรับรูปแบบบริการเพื่อมุ่งสู่การเป็น “ไลฟ์สไตล์แอร์ไลน์” ภายใต้แนวคิด “นกเลือกได้” หรือการร่วมมือในกลุ่มไทยกรุ๊ป เพิ่มสิทธิพิเศษแก่ผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกนกแฟนคลับ และสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับไมล์สะสมของรอยัล ออร์คิด พลัส เมื่อเดินทางกับนกแอร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ล่าสุดนกแอร์ได้รับรางวัล “The Best Low Cost Airline in Thailand” จัดอันดับโดยสกายแทรกซ์ในปีนี้ด้วย เป็นอีก 1 จุดที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพและบริการของนกแอร์ที่ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามแผนธุรกิจของนกแอร์ที่มุ่งเน้นลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และยกเครื่องการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงรูปแบบบริการในการแข่งขัน ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะ คือ ลดการขาดทุน สร้างความพร้อมให้มีประสิทธิภาพและเดินไปข้างหน้า และการขยายเส้นทางบิน ตลอดจนการจัดองค์กรใหม่เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น