ผู้บริหารใหม่นกแอร์ สานต่อแผนเดิม หยุดขาดทุนปี’62

แฟ้มภาพ

“ประเวช องอาจสิทธิกุล” รักษาการซีอีโอนกแอร์ ยัน “ปิยะ ยอดมณี” ลาออก ไม่กระทบแผนเทิร์นอะราวนด์ พร้อมบุกธุรกิจคาร์โก้-ขายโฆษณาบนเครื่องบิน สร้างพอร์ตรายได้ใหม่ แจง “บอร์ด-ผู้ถือหุ้น-ผู้บริหาร” ไม่ขัดแย้งส่วนข่าวบอร์ดปฏิเสธแผนธุรกิจเป็นแค่เรื่องดราม่า ตั้งเป้าหยุดตัวเลขขาดทุนได้ในปี’62

จากกรณีการลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ สายการบินนกแอร์ ของนายปิยะ ยอดมณี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาแก้ไขปัญหาและพลิกฟื้นรายได้ของนกแอร์ได้เพียง 11 เดือน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในหลากหลายมุม ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้ง นายประเวช องอาจสิทธิกุล มารักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน

นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลาออกของนายปิยะจะไม่ส่งผลกระทบกับแผนงานของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการพลิกฟื้นธุรกิจ (turn around plan) ซึ่งเป็นแผนธุรกิจ 3 ปี (2560-2562) ซึ่งที่ผ่านมาแผนนี้ก็สามารถบริหารและเดินได้ตามแผนที่วางไว้อย่างดี แต่เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจสายการบินที่รุนแรงขึ้น จากการมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามามากขึ้นประกอบกับความผันผวนของราคาน้ำมันโลกทำให้ธุรกิจสายการบินต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน ซึ่งล้วนส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการ และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สายการบินส่วนใหญ่ขาดทุน

“สาระของเทิร์นอะราวนด์แพลนเดิมนั้นมี 3 ระยะ คือ ระยะแรกจะโฟกัสเรื่องการหยุดตัวเลขขาดทุน อุดรอยรั่วต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ขาดทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงแผนการเพิ่มบุคลากรในระดับหัวหน้าส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สายบริหาร ปฏิบัติการ การตลาด การเงิน ฯลฯ ซึ่งงานส่วนนี้ได้ดำเนินการไปหมดแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องเครื่องดีเลย์ ก็ได้ดำเนินการและแก้ไปแล้ว กลับมาตรงเวลาดีขึ้น จนล่าสุดได้รับรางวัล The Best Low Cost Airline in Thailand จากสกายแทร็กซ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนแผนระยะ 2 จะเป็นการสร้างความแข็งแรง ทำให้นิ่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนเชิงรุกต่อไป และแผนระยะที่ 3 เป็นเรื่องของการทำงานเชิงรุกอย่างเต็มที่”

รุก “คาร์โก้-โฆษณา” เพิ่มรายได้

นายประเวชย้ำว่า ตอนนี้นกแอร์ยังอยู่ในช่วงหยุดขาดทุน และทำให้ธุรกิจนิ่ง เพราะเพิ่งเริ่มต้นแผนมาได้เพียงปีเดียวเท่านั้น สำหรับแนวทางหลังจากนี้ บริษัทยังคงทุ่มน้ำหนักกับการบริหารจัดการเส้นทางบินให้สอดรับกับดีมานด์ของตลาด ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่สร้างรายได้และกำไรจากการขายตั๋วได้ดีกว่าตลาดภายในประเทศ โดยขณะนี้มีแผนบุกตลาดจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในรูปแบบเที่ยวบินประจำ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ และการขายในรูปแบบยกลอตเป็นกรุ๊ป (box seat) เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแผนรุกธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจคาร์โก้ต่ำมาก รวมถึงมีแผนขายสื่อโฆษณาบนเครื่องบิน

“ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา นกแอร์มีตัวเลขขาดทุนที่ลดลงกว่า 14% และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือเคบินแฟกเตอร์ อยู่ที่ 91.22% ซึ่งถือว่าสูงมากแล้ว ดังนั้นการจะเพิ่มพอร์ตรายได้ให้มากขึ้น เราต้องมองหาช่องทางใหม่ ๆ เข้ามาเสริม นี่คือเหตุผลที่เรามองเรื่องของธุรกิจคาร์โก้ และขายสื่อโฆษณาบนเครื่องบิน ซึ่งหากสามารถเดินได้ตามแผนที่วางไว้มั่นใจว่านกแอร์น่าจะหยุดตัวเลขขาดทุนได้ในปี 2562” นายประเวชกล่าว

ความขัดแย้งเป็นแค่ “ดราม่า”

รักษาการบริษัทสายการบินนกแอร์ยังกล่าวอีกว่า จากที่ได้เข้ามาร่วมบริหารสายการบินนกแอร์ได้ 1 ปีเศษ ยืนยันได้ว่าทั้ง 3 ฝ่าย คือ บอร์ดบริหาร ผู้บริหาร รวมถึงผู้ถือหุ้นนกแอร์ มีแนวคิดในการบริหารไปในทิศทางเดียวกัน และยังเชื่อมั่นว่า นกแอร์จะสามารถกลับมาพลิกฟื้นตามแผนเทิร์นอะราวนด์ปี 2560-2562 ได้

ส่วนกระแสข่าวว่า กลุ่มผู้ถือหุ้น หรือกลุ่มจุฬางกูร ไม่เห็นด้วยกับแผนธุรกิจที่ทางนายปิยะ ยอดมณี อดีตซีอีโอสายการบินนกแอร์นำเสนอ กระทั่งเป็นผลให้นายปิยะตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ กรรมการ และกรรมการชุดย่อยของบริษัททุกคณะนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงแค่ดราม่าบนหน้าสื่อเท่านั้น ไม่ได้เกิดความขัดแย้งใด ๆ

“ธุรกิจสายการบินเป็นการลงทุนและต้องมองระยะยาว จุดนี้ส่วนตัวผมมั่นใจว่าผู้ถือหุ้นเข้าใจ และการที่กลุ่มจุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่ ยอมให้บริษัทกู้เงินส่วนตัวมาลงทุนต่อนั้นก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจและพร้อมที่จะเดินไปต่อด้วยกัน”


อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยัง นายณัฐพล จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่ นายณัฐพลกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวนี้ และต้องขอโทษด้วย”