ทอท.ไล่ช็อปสนามบินเครือข่าย จ่อเสนอตัว “ลงทุน-บริหาร” อู่ตะเภาเฟส2

ทอท.เดินหน้าเสนอตัวรับบริหารสนามบินเพิ่ม แก้ปัญหาความแออัดของสนามบินหลักทั้ง 6 แห่ง ล่าสุดเตรียมซื้อทีโออาร์เข้าลงทุน-บริหารสนามบินอู่ตะเภา เฟส 2 อีกโครงการในเดือนตุลาคมนี้ หวังเชื่อมโยงเส้นทางการจราจรทางอากาศ 3 สนามบินหลัก หลังบอร์ดเห็นชอบเข้าบริหาร 4 สนามบินของ ทย. และอีก 2 สนามบินของ กพท.ไปแล้ว พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 คาดตัวเลขรายได้-กำไรปี”61 เป็นไปตามเป้าหมาย

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทท่าอากาศยานไทยในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความพร้อมอย่างมากที่จะเข้าไปรับบริหารสนามบินเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีท่าอากาศยานหลักในเครือข่ายอยู่แล้ว 6 แห่ง โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้มีมติเสนอเข้ารับบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง คือ อุดรธานี, สกลนคร, ตาก และชุมพร ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในเดือนกันยายนนี้รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวมมูลค่าลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งได้เสนอบอร์ดอนุมัติหลักการแล้วเช่นกัน โดยทาง กพท.ต้องเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณา และคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปราวเดือนกันยายนนี้เช่นกัน

ล่าสุดขอรับบริหาร “อู่ตะเภา”และจากแผนงานของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-ชลบุรี ด้วยการเพิ่มรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารสำหรับรองรับผู้โดยสารที่จำนวน 60 ล้านคนต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมีแผนจะเปิดขายทีโออาร์ (TOR) ให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้ายื่นประมูลในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากได้เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน จากดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาไปแล้วนั้น ทาง ทอท.ก็มีความพร้อมเป็นอย่างมากสำหรับการเสนอตัวเข้าไปรับบริหารในโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศของ 3 ท่าอากาศยานหลัก ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภาเข้าด้วยกัน รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการเส้นทางจราจรการบินทางอากาศ และลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอีกด้วย

หวังเชื่อมโยง 3 สนามบินหลัก

“แน่นอนว่าเมื่ออู่ตะเภาทำทีโออาร์ออกมาเราก็พร้อมที่จะไปซื้อทีโออาร์และมาศึกษาว่ารูปแบบการบริหารที่อู่ตะเภา อยากให้ออกมาในรูปแบบไหน จะเป็นเกตเวย์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียง หรือว่าอยากให้อู่ตะเภาเป็นฮับการบินเพื่อจุดเชื่อมต่อเส้นทางบินไปยังเส้นทางอื่น ๆ ได้ด้วย” นายนิตินัยกล่าว

และว่า ทั้งนี้ อู่ตะเภาจะมีความน่าสนใจมากหากวางโพซิชันนิ่งว่าอยากเป็นฮับการบินอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค เพราะ ทอท.สามารถวิเคราะห์ความวาไรตี้ของเส้นทางบินได้ว่ามีความหลากหลายแค่ไหน อย่างไร และสามารถเจรจากับสายการบินที่เคยลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองได้ว่าหากโยกไปลงที่อู่ตะเภาและเพิ่มอินเซนทีฟให้เขาจะสนใจหรือไม่ หากสายการบินยินดีที่จะโยกไปลงที่อู่ตะเภาได้บางส่วน ทอท.ก็กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนและรับบริหาร ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงของ 3 สนามบินหลักอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน

10 เดือนแรกผู้โดยสารพุ่ง 9.21%

นายนิตินัยกล่าวด้วยว่า สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. ในช่วง 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กรกฎาคม 2561) พบว่า มีจำนวน 117.89 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 68.02 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.72% และผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 19.87 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.75%

โดยมีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดรวม 7.31 แสนเที่ยวบิน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ จำนวน 3.86 แสนเที่ยวบิน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.08% และเที่ยวบินภายในประเทศ จำนวน 3.45 แสนเที่ยวบิน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.84%

มั่นใจ “รายได้-กำไร” เข้าเป้า

นายนิตินัยกล่าวด้วยว่า จากตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ปริมาณผู้โดยสารโดยเครื่องบินยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสอดรับกับจำนวนเที่ยวบินอย่างชัดเจนที่ประมาณ 12%

“การเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกสนามบินมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารหนาแน่น และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ ทอท.จำเป็นต้องมีแผนพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว ทั้งในส่วนที่เป็นสนามบินเดิมทั้ง 6 แห่ง และสนามบินใหม่ ๆ ที่ทาง ทอท.ได้เสนอตัวว่าเราพร้อมที่จะบริหารไปยังกรมท่าอากาศยานและ กพท. รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาเฟส 2” นายนิตินัยกล่าว

และว่า สำหรับตัวเลขรวมจำนวนผู้โดยสารและรายได้สำหรับปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กรกฎาคม 2561) นี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารรวมจะขยายตัวอยู่ในอัตราที่ประมาณ 8.5% ต่ำจากคาดการณ์

เดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ราว 9-10% ทั้งนี้ เป็นผลจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนมีจำนวนลดลง รวมถึงอีเวนต์ฟุตบอลโลกที่ทำให้นักท่องเที่ยวในโซนยุโรปชะลอการเดินทางท่องเที่ยวไปเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าผลประกอบการในเชิงตัวเลขและกำไรยังคงเป็นตามเป้าหมาย

เดินหน้า “ดอนเมือง” เฟส 3

ด้านนาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองว่า บอร์ด ทอท.ได้มีมติเห็นชอบแผนปรับปรุงแก้ไขปัญหาความแออัดระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อช่วยบรรเทาความแออัดไปแล้ว ประกอบด้วย แผนการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) รวมทั้งการขยายห้องโถง Bus Gate พื้นที่ประมาณ 950 ตารางเมตร สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางของ

ผู้โดยสารขาเข้าและขาออกอีกประมาณ 220 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง (ทั้งขาเข้าและขาออก) อีก 20 ช่องตรวจ และการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ที่จะสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มอีก 2,000 คัน ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ระยะที่ 3 (2561-2567) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (หลังเดิม) พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี


จากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เมื่ออาคารผู้โดยสารอาคาร 1 และอาคาร 2 แล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารภายในประเทศรวม 22 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 เช่นกัน