รักษาการซีอีโอ “นกแอร์” เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจพ้นวิกฤต

 

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) วาระพิเศษ ครั้งที่ 4/2561 มีมติแต่งตั้ง “ประเวช องอาจสิทธิกุล” กรรมการ เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แทน “ปิยะ ยอดมณี” ที่ขอลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการทุกชุด ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ประเวช องอาจสิทธิกุล” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ถึงแนวทางในการดำเนินงาน รวมถึงเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงปมปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ไว้ดังนี้

“ประเวช” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ด้วยคำยืนยันว่า การลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของนายปิยะ ยอดมณี นั้นไม่มีผลกระทบใด ๆ กับภาพรวมการบริหารงานของสายการบินนกแอร์ เนื่องจากทีมผู้บริหารได้มีการกำหนดแนวทางและเป้าหมายของการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจนตามแผน Turn Around Plan ซึ่งเป็นแผนพลิกฟื้นธุรกิจในช่วง 3 ปี (2560-2562) หลังจากที่นายปิยะเข้ามาบริหารเป็นกรอบใหญ่สำหรับการดำเนินงานอยู่แล้วทั้งแผนการบริหารจัดการเส้นทางบินให้สอดรับกับดีมานด์ตลาด แผนเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แผนปลดระวางเครื่องบินเก่า แผนการเพิ่มเครื่องบินใหม่ แผนการร่วมมือทางการตลาดกับพันธมิตร ฯลฯ รวมถึงการจัดโครงสร้างและเสริมบุคลากรในทุกส่วนไว้อย่างครบถ้วน

ที่สำคัญ คือ ความพยายามในการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพื่อหยุด “ขาดทุน” และก้าวสู่สเต็ปของการทำให้ธุรกิจนิ่งและเติบโตต่อไป

พร้อมทั้งย้ำว่า การลาออกของ “ปิยะ” นั้นก็ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งภายใน ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน

“ประเวช” บอกว่า ตนเข้ามาร่วมบริหารในตำแหน่งกรรมการของบริษัท สายการบินนกแอร์ มารวมเวลา 1 ปีเศษ เห็นมาตลอดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจุฬางกูร หรือบริษัทการบินไทย ให้การส่งเสริมและสนับสนุนนกแอร์มาอย่างดีโดยตลอด

ขนาดนกแอร์เจอปัญหาความยากลำบากในการที่กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์  “จุฬางกูร” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ยังยอมให้บริษัทนกแอร์กู้เงินส่วนตัวออกมาหมุนเวียน แต่กระแสข่าวที่ออกมาตลอดกลับเป็นแนวลบ

“ผมว่าไม่ใช่แค่นกแอร์ บริษัทไหนก็ตามที่ยังอยู่ในแผนหยุดขาดทุน คงไม่มีสถาบันการเงินไหนปล่อยกู้หรอก ดังนั้นการที่กลุ่มจุฬางกูรให้นกแอร์กู้นั้นสะท้อนให้เห็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เขามีความมั่นใจและตั้งใจลงทุนระยะยาว”

รักษาการซีอีโอสายการบินนกแอร์ยังบอกอีกว่า ในมุมมองส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า “นกแอร์” มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตได้ แม้ว่าการแข่งขันของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ของประเทศไทยจะยังคงรุนแรงดุเดือดต่อเนื่องก็ตาม แต่ตลาดภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่องทุกปี นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกยังมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าเดินทางท่องเที่ยว

“ธุรกิจสายการบินในประเทศไทยแข่งขันกันแรงมาก แต่ถ้าเรามองให้ไกลกว่านั้นจะพบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก หากเรามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเชื่อมั่นว่าธุรกิจยังเดินหน้าได้”

พร้อมทั้งระบุว่า ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์นั้นเป็นธุรกิจที่มาร์จิ้นต่ำ พอมีเรื่องประเด็นราคาน้ำมันโลกมากระทบ ทำให้ทุกค่ายได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด อย่างในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ขนาดนกแอร์ทำอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือเคบินแฟกเตอร์ได้ถึงกว่า 90% ยังขาดทุน นั่นหมายความว่า เราจะโฟกัสเพียงแค่รายได้จากการขายตั๋วต่อไปไม่ได้แล้ว

โดยขณะนี้นกแอร์เองก็พยายามมองหาช่องทางสร้างรายใหม่ ๆ เข้ามาเสริมฐานรายได้เดิมเช่นกัน อาทิ ธุรกิจคาร์โก้ หรือขนส่งสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจนี้มากนัก ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว หรือการขายโฆษณาบนเครื่องบินที่ผ่านมานกแอร์ก็ยังไม่ได้ทำ รวมถึงการขายตั๋วในรูปแบบใหม่ และชาร์เตอร์ไฟลต์

นอกจากนี้ ตามแผนของนกแอร์เรายังจะมุ่งวางเส้นทางบินให้สอดรับกับของ “นกสกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินในเครือข่าย เพื่อให้เส้นทางของนกแอร์สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางของนกสกู๊ตได้สะดวกและง่ายขึ้น

ต่อคำถามที่ว่า มองว่านกแอร์น่าจะใช้เวลาอีกนานไหมสำหรับพลิกฟื้นธุรกิจ หรือพ้นวิกฤติ “ประเวช” บอกว่า ปีนี้ไม่ทันแน่นอน เพราะเกือบหมดปีแล้ว แต่ประเมินว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากนี้ มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ปีหน้า 2562 นกแอร์จะสามารถหยุดขาดทุนได้ จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่สเต็ปของการสร้างการเติบโตต่อไปในปี 2563

“ประเวช” ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ในช่วงที่ตนนั่งรักษาการซีอีโอนี้จะพยายามรักษาโมเมนตัมให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป และไม่ให้เกิดรอยต่อใด ๆ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ (บอร์ด) ก็ได้ดำเนินการสรรหาซีอีโอคนใหม่ตามกระบวนการ เพื่อมาสานงานต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาสัก 2-3 เดือนนับจากนี้

พร้อมยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงเวลานี้ “นกแอร์” จะยังคงเดินตามแผนยุทธศาสตร์เดิมต่อไป และไม่มีอะไร “เซอร์ไพรส์” หรือ “ดราม่า” ไปมากกว่านี้แน่นอน..