“สยามเวลเนส” ขยับรุก ตลาด ตปท.-รับบริหารสปาในโรงแรมหรู

เป็นองค์กรที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาอยู่เป็นระยะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว สำหรับ “สยามเวลเนส กรุ๊ป” ผู้ให้บริการธุรกิจสปารายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ของไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ “ดาวรุ่ง” พุ่งแรง และเติบโตไปในทิศทางเดียวกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ณรัล วิวรรธนไกร” กรรมการบริหาร บริษัท สยามเวลเนส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ถึงภาพรวมธุรกิจของกลุ่มสยามเวลเนส ทิศทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงแผนการขยายงานในอนาคตไว้ดังนี้

“ณรัล” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มสยามเวลเนส มี 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ ธุรกิจสปา, ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร, ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา และธุรกิจโรงเรียนสอนนวดแผนไทย โดยรายได้หลักประมาณ 86% มาจากธุรกิจสปา

บริหารสปา 3 แบรนด์หลัก

โดยธุรกิจสปานั้นประกอบด้วย 3 แบรนด์ คือ 1.ระรินจินดา เวลเนส สปา แบรนด์สปาระดับ 5 ดาว ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ กรุงเทพฯ 2 สาขา และเชียงใหม่ 1 สาขา โดยล่าสุดบริษัทได้รีแบรนด์ใหม่ให้แบรนด์มีความเป็นลักเซอรี่มากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Ultimate Wellness Experience” ซึ่งมีความเรียบหรูและเป็นส่วนตัวมากขึ้นกว่าเดิม นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย รวมทั้งเพิ่มบริการใหม่สำหรับรองรับตลาดกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น

2.เล็ทส์ รีแลกซ์ (Let”s Relax) แบรนด์สปาระดับ 4 ดาว ซึ่งถือเป็นแบรนด์เรือธงของกลุ่มสยามเวลเนส ปัจจุบันมีทั้งหมด 33 สาขา แบ่งเป็นสาขาในประเทศ 27 แห่ง และสาขาในต่างประเทศอีก 6 แห่ง โดยสาขาในประเทศนั้นยังคงโฟกัสเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, สมุย, หัวหิน และกระบี่ เนื่องจากฐานลูกค้ากว่า 75% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

และ 3.บ้านสวนมาสสาจ แบรนด์สปา ร้านนวด ระดับ 3 ดาว มุ่งเน้นทำเลชานเมืองกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวในเมืองรอง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยเกือบ 100% ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 11 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 8 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 3 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา, อุดรธานี และหนองคาย

“เมืองท่องเที่ยวเมืองรองนี้เป็นตลาดที่เรากำลังเทสต์อยู่ ซึ่งหากโมเดลลงตัวเราก็พร้อมขยายเข้าไปในทุกภาคของประเทศ เพราะในตลาดต่างจังหวัดก็เริ่มมีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ เดินทางเข้าไปเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของทางรัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”

บุกเมืองท่องเที่ยว-ตปท.

“ณรัล” บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทใช้แบรนด์เล็ทส์ รีแลกซ์ (Let”s Relax) สำหรับบุกตลาดทั้งที่เป็นตลาดในประเทศและต่างประเทศ และประเมินว่าในอีก 3 ปีนับจากนี้ Let”s Relax ก็จะยังคงเป็นแบรนด์หัวหอกในการบุกตลาด โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ รวมถึงพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารวมถึงตลาดในต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการสาขาในต่างประเทศไปแล้ว 6 แห่ง ประกอบด้วยจีน 3 แห่ง และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีจีดีพีสูงสุดในอาเซียนอีก 3 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำว่า “สยามเวลเนส” คือ ผู้นำธุรกิจสปาในทวีปเอเชีย

“หลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะที่ระบบทางบัญชีก็เป็นมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น ในช่วง 2-3 ปีนี้จะยังคงมุ่งเปิดตลาดจีนเป็นหลัก เนื่องจาก Let”s Relax เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน รองลงมาคือ ตลาด CLMV ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากสามารถสร้างแบรนด์ได้ก็จะทำให้มีโอกาสครองใจผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

รับริหารสปาในโรงแรมหรู

ไม่เพียงเท่านี้ ยังใช้แบรนด์ Let”s Relax สำหรับเข้าไปรับบริหารสปาในโรงแรมต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากมองว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีโรงแรมใหม่เปิดตัวจำนวนมาก ซึ่งบริการหนึ่งที่โรงแรมนำมาเป็นจุดขายคือ “สปา”

“ตอนนี้มีโรงแรมหลายเชนที่ติดต่อให้ทางเราเข้าไปช่วยบริหารสปา เพราะมองว่าการบริหารสปาต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งส่วนใหญ่โรงแรมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการ

บริหารสปา ซึ่งเราเริ่มรับบริหารสปามาแล้วตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันเรารับบริหารสปาให้โรงแรมต่าง ๆ ไปแล้ว 6 แห่ง คือ ฮอลิเดย์ อินน์ กระบี่, มิลเลนเนี่ยม ภูเก็ต, ไอบิส ห้วยขวาง ซึ่งมีแผนจะเปิดสิ้นปีนี้ ที่เหลืออีก 3 แห่งเป็นโรงแรมแบรนด์โลคอล”

สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้นยังคงบริหารโรงแรม “ระรินจินดา เวลเนส สปา รีสอร์ท” เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบูติครีสอร์ตขนาด 39 ห้อง ล่าสุดเพิ่งรีโนเวตครั้งใหญ่ หลังเปิดให้บริการมาครบ 10 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา และยังคงเป็นรีสอร์ตที่เป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องการรีสอร์ตที่เป็นเวลเนสอย่างแท้จริง

ยกเครื่อง “ผลิตภัณฑ์สปา”

ส่วนธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปานั้น “ณรัล” บอกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์แบรนด์ “บูมมิ่ง” ทั้งระบบ ตั้งแต่ตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงโครงสร้างราคา เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นพรีเมี่ยม คาดว่าน่าจะเสร็จเรียบร้อยในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ธุรกิจโรงเรียนสอนนวดแผนไทยนั้นยังคงมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรที่มีมาตรฐานสำหรับป้อนธุรกิจในเครือเป็นหลัก โดยวางเป้าหมายว่า ไม่ว่าลูกค้าจะใช้บริการที่สาขาไหน จะต้องได้รับการบริหารที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

“ใน 4 กลุ่มธุรกิจนี้ ธุรกิจที่จะเติบโตมากในอนาคต หรือ next grown engine คือ กลุ่มจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา โดยนอกจากจะโฟกัสช่องทางจำหน่ายผ่านเอาต์เลตสปาในเครือข่ายและช่องทางออนไลน์แล้ว ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแผนเปิดร้านค้าในรูปแบบสแตนด์อะโลนในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อีกช่องทางหนึ่งด้วย

ตั้งเป้าปี”61 เปิด 10 สาขา

“ณรัล” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแผนในปีนี้ด้วยว่า ปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาใหม่ไว้ที่ 10 แห่ง โดยเพิ่งเปิดไป 1 แห่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่เหลืออีก 9 แห่งมีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งจะสอดรับกับแนวโน้มของภาคการท่องเที่ยวของไทยที่จะขยายตัวอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

พร้อมยังบอกอีกว่า อุตสาหกรรมสปาเมืองไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสปาระดับ 3 ดาวและต่ำกว่า 90% และระดับ 4 ดาวขึ้นไป 10% ในจำนวนนี้กลุ่มสยามเวลเนส มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 20% และมีส่วนแบ่ง 3% ของมูลค่ารวมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมแล้วพบว่า “สยามเวลเนส กรุ๊ป” เป็นเบอร์ 1 ในตลาด ทั้งในด้านจำนวนรายได้และสาขา ตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า อุตสาหกรรมสปาของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล