การบินไทยเมินโลว์คอสต์ดัมพ์ราคา ทุ่มตลาดญี่ปุ่นย้ำภาพผู้นำ

แฟ้มภาพ

“การบินไทย” ปรับแผนกลยุทธ์รักษาตำแหน่งผู้นำตลาดญี่ปุ่น เดินหน้าเพิ่มความถี่เที่ยวบิน 6 เมืองหลักหวังเพิ่มที่นั่งรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ไม่หวั่นกลุ่มโลว์คอสต์ดัมพ์ราคาชิงเค้ก ยันนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นชื่นชอบสายการบินพรีเมี่ยม หนุนการบินไทย ครองเบอร์ 1 ทุกเส้นทาง

นายวีรวัฒน์ รัตนา ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศญี่ปุ่นภาคตะวันตก สำนักงานโอซากา บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนรายได้ราว 15-20% ของรายได้รวม และถือเป็นตลาดหลักที่ทำรายได้ให้การบินไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นยกเลิกฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวคนไทย และการบินไทยเป็นสายการบินที่ครองตลาดเส้นทางบินไทย-ญี่ปุ่น จึงได้ปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง โดยเฉพาะแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในทุกเส้นทางเพื่อให้มีจำนวนที่นั่ง (capacity) เพิ่มมากขึ้น และสอดรับกับความต้องการของกลุ่มผู้โดยสาร ที่สำคัญถือเป็นยุทธศาสตร์การสร้างรายได้ให้ขยายตัวกว่า 10% ต่อปีต่อเนื่อง และเป็นอีกกลยุทธ์ที่บริษัทยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดญี่ปุ่นต่อไปได้

นายวีรวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทยให้บริการเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นรวม 6 เดสติเนชั่นหลัก ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ-นาริตะ 3 เที่ยวบินต่อวัน 2.กรุงเทพฯ-ฮาเนดะ 2 เที่ยวบินต่อวัน 3.กรุงเทพฯ-โอซากา 2 เที่ยวบินต่อวัน 4.กรุงเทพฯ-นาโกยา 2 เที่ยวบินต่อวัน 5.กรุงเทพฯ-ซัปโปโร 1 เที่ยวบินต่อวัน และ 6.กรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ 1 เที่ยวบินต่อวัน

ล่าสุดได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินหลายจุด อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา จาก 1 เที่ยวบินเป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีแผนจะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา 1 เที่ยวบิน (4 วันต่อสัปดาห์) และเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร 1 เที่ยวบิน (3 วันต่อสัปดาห์) ในต้นเดือนธันวาคมนี้ ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ ขณะนี้ยังอยู่ในแผนขอเปิดความถี่เพิ่มเช่นกัน จากปัจจุบันให้บริการ 1 เที่ยวบินต่อวันเช่นกัน

“เส้นทางกรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ เป็นเส้นทางที่เราอยากเพิ่มความถี่เป็นเส้นทางแรก ๆ เพราะยังเป็นเส้นทางเดียวที่การบินไทยให้บริการเพียงรายได้อยู่ในขณะนี้ และยังเป็นเส้นทางที่มีดีมานด์สูง โดยมีแผนเพิ่มจาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ให้เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่ด้วยศักยภาพในการรองรับของสนามบินแห่งนี้ยังเล็ก จึงขอตารางเพิ่มค่อนข้างยาก หากปลายปีนี้เรายังไม่ได้ตารางบินเพิ่มคงต้องปรับแผนด้วยการเปลี่ยนเครื่องบินจากเดิมที่ใช้ A330 มาเป็น B777 แทน เพื่อให้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น”

นายวีรวัฒน์ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการบินไทยครองสัดส่วนจำนวนที่นั่งรองรับผู้โดยสาร (capacity) บนเส้นทางบินระหว่างกรุงเทพฯสู่ประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยประมาณ 38% โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว สัดส่วน 31% เส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา 39% เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา 75% เส้นทางกรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ 100% และเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร 44% และคาดว่าหลังจากแผนเพิ่มความถี่เส้นทางบินดังกล่าวสามารถดำเนินได้ตามเป้าหมาย จะทำให้สัดส่วนจำนวนที่นั่งรองรับผู้โดยสารของการบินไทยโดยรวมในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มได้อีกประมาณ 2-3%

นายวีรวัฒน์กล่าวว่า หลังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ปลดธงแดงให้ไทย ทำให้กลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ของไทย อาทิ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และนกสกู๊ต ได้เปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งเส้นทางสู่โตเกียว, โอซากา, ซัปโปโร รวมถึงนาโกยาในปลายเดือนตุลาคมนี้นั้น ยอมรับว่าการบินไทยได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักศึกษาและวัยเริ่มต้นทำงาน อยากลองใช้บริการใหม่และมองเรื่องราคาเป็นหลัก

“เรายังคงโฟกัสทำตลาดกับกลุ่มพรีเมี่ยม โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางชาวญี่ปุ่นหรือกว่า 80% ที่ยังคงชอบใช้บริการสายการบินในกลุ่มฟูลเซอร์วิส เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมความสะดวกสบาย และยังมีรสนิยมให้รางวัลกับชีวิตด้วยการเที่ยวหรูอยู่สบาย และเชื่อว่าแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่อีกนาน จึงเชื่อมั่นว่าการบินไทยจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดญี่ปุ่นและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทุกปีต่อไป”


นายวีรวัฒน์กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากบริษัทจะมุ่งเน้นในการเพิ่มสัดส่วนจำนวนที่นั่งรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารตัวเลขกำไร หรือผลตอบแทนให้มีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกันด้วย โดยในช่วงตั้งแต่กลางปี 2560 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้พบว่าตลาดญี่ปุ่นในการเติบโตดีเกินคาด ทำให้คาดว่าตัวเลขยอดขายและกำไรสำหรับปี 2561 นี้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ และมั่นใจว่าหลังจากสามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินได้ครบตามแผนที่วางไว้ จะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 เป็นต้นไป