จับตา! ก้าวใหม่ “บินไทย” วัดใจ “สุเมธ” ดีดีใหม่ฝ่าประเด็นร้อน

หลังจากที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดหัวเรือใหญ่ในตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” หรือดีดีมาพักใหญ่ โดยมี “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจการบินรักษาการตำแหน่ง “ดีดี” มาตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

ประกอบกับ “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ประธานกรรมการบริษัท (บอร์ด) ก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดอีกคนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ส่งผลให้องค์กรแห่งนี้ขาดแม่ทัพใหญ่ไปถึง 2 ตำแหน่งหลัก ๆ

กระทั่งที่ประชุมกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้ง “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร นั่งตำแหน่งประธานบอร์ด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา และล่าสุดก็ได้ประกาศแต่งตั้ง “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ให้รับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา

2 แม่ทัพใหญ่พร้อมลุย

และทันทีที่ “หัวเรือใหญ่” มากันครบถ้วนแล้ว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 กันยายน 2561) “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ถือโอกาสไปตรวจเยี่ยมเพื่อมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูทันที

โดย “ไพรินทร์” ระบุว่า ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่องค์กรการบินไทยมีความพร้อมที่สุดแล้ว เพราะผู้บริหารในระดับหัวเรือใหญ่มากันครบแล้ว นั่นหมายความว่าเวลานี้เป็นจุดที่พร้อมที่สุดของการบินไทยที่จะเดินไปข้างหน้า ในการสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับสายการบินแห่งชาติได้

พลิกขาดทุนเป็นกำไรอย่างไร

ขณะเดียวกัน การเข้ามาของผู้บริหารชุดใหม่นี้ก็เป็นที่จับตามองจากหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก “การบินไทย” ในยุคนี้จะก้าวเดินต่อไปในทิศทางไหน และจะสามารถแก้วิกฤตขององค์กรได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.จะพลิกตัวเลข “ขาดทุน” ให้เป็น “กำไร” ได้อย่างไร โดยในประเด็นนี้ “ไพรินทร์” บอกว่า แม้ว่าที่ผ่านมา “การบินไทย” จะขาดทุนบ้าง แต่ถือว่าเป็นการขาดทุนที่เหนือการควบคุม เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้การบินไทยขาดทุนจำนวนมากนั้นเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ผันผวน และราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

“ในประเด็นนี้แม้จะเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะงอมืองอเท้า เพราะในเชิงการบริหารนั้นมีเครื่องมือบริหารการเงินและบริหารต้นทุนพลังงานที่ทั่วโลกใช้กันอยู่หลากหลายรูปแบบ เพียงแต่เราต้องเลือกมาให้เหมาะสม”

ขณะที่ “สุเมธ” มองว่า ตนยังคงเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูเดิม เพราะเชื่อมั่นว่าแผนฟื้นฟูทำมาโดยเจตนาที่ดี ส่วนจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายนั้น ขอ “เวลา” อีกสักพักหนึ่งถึงจะสามารถเล่าสู่กันฟังได้

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาแผนฟื้นฟูบางส่วนก่อนที่จะเข้ามาเริ่มทำงานในฐานะดีดีพบว่า ทรัพยากรของการบินไทยนั้นมีทั้งที่ดีและดีมากในหลาย ๆ ส่วน ทั้งเรื่องบุคลากรที่มีความรู้

ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเส้นทางการบินที่ดีมาก ซึ่งจุดนี้ถือเป็นแอสเสตที่มีมูลค่ามหาศาล เพียงแต่ที่ผ่านมาองค์กรการบินไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างรุนแรง ทั้งเรื่องการเปิดเสรีน่านฟ้า, การรุกของกลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อองค์กรการบินไทยโดยตรง

“ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและใหญ่ ใครทำได้ดีก็รอด ส่วนใครที่ก้าวไม่ทันกับสิ่งที่อุตสาหกรรมเป็นอยู่ก็จะเกิดปัญหา แต่ท้ายที่สุด ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าองค์กรการบินไทยยังเดินต่อไปได้” สุเมธย้ำ

เตรียมเจรจา TG Terminal

2.บทสรุปของแผนการใช้อาคาร 2 สุวรรณภูมิ สำหรับเป็น TG terminal สำหรับโครงการย้ายเครื่องการบินไทยขึ้น-ลงไปอยู่ในส่วนอาคาร 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ที่

กำลังมีปัญหาเรื่องการออกแบบอยู่ในขณะนี้นั้น แหล่งข่าวภายในการบินไทยระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางการบินไทยได้ศึกษาถึงความต้องการและความเหมาะสมแล้ว และยืนยันว่าการบินไทยจะยังใช้พื้นที่อาคารหลัก หลังปัจจุบันของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าประธานบอร์ดและดีดีคนใหม่ได้เจรจากับทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) นอกรอบแล้วว่า การบินไทยอยากย้ายไปใช้อาคาร 2 โดยจะสร้างให้เป็น TG terminal รองรับผู้โดยสารของการบินไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีผู้โดยสารถึงปีละกว่า 26 ล้านคน

โดยประเด็นนี้ “สุเมธ” บอกว่า มีแผนนัดเจรจากับทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เร็ว ๆ นี้ ซึ่งสำหรับตัวเองมองว่า ทอท.ก็เป็นหนึ่งในแฟมิลี่ของการบินไทยที่พร้อมจะคุยและให้การสนับสนุนและดูแลซึ่งกันและกัน ส่วนจะได้สรุปอย่างไรนั้นตนคงต้องดูว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่

เดินหน้าแผนซื้อฝูงบินแสนล้าน

3.แผนการซื้อฝูงบินใหม่มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท จะยังดำเนินต่อไปหรือไม่ เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ของการบินไทยเพื่อทดแทนเครื่องเดิมจำนวน 23 ลำ มูลค่าราว 1 แสนล้านบาทไปแล้ว รอเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป

ประเด็นดังกล่าวนี้ “ไพรินทร์” บอกว่า ได้ให้คณะทำงานไปทำใบเสนอส่งมา เนื่องจากฝูงบินเป็นอุปกรณ์สำหรับทำมาหากิน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คณะทำงานต้องรีบหาข้อยุติและเสนอเรื่องมายังกระทรวงต่อไป

ทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็น “กระแส” ที่ทุกฝ่ายต่างจับตามองว่าผู้บริหาร “การบินไทย” ในยุคนี้จะจัดการอย่างไร ท่ามกลางสภาวะที่องค์กรยังแบกตัวเลขหนี้มหาศาลอยู่ในขณะนี้…