เปิดแผน TG หยุดขาดทุนปี”65 ก้าวขึ้นท็อปไฟฟ์สายการบินโลก

หลัง “การบินไทย” เริ่มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2558 ในยุคที่มีนายจรัมพร โชติกเสถียร นั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และภารกิจถูกส่งต่อมายัง “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ดีดีคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับงาน ล่าสุด การบินไทยจัดเสวนา “สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกล อย่างยั่งยืน” มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน งานนี้นอกจากจะเป็นการเปิดตัวดีดีคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เป็นการประกาศแผนการขับเคลื่อนการบินไทยให้พนักงาน รวมถึงพันธมิตรได้รับทราบไปในทิศทางเดียวกัน

ตั้งเป้าท็อปไฟฟ์สายการบินโลก

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของการบินไทยจากนี้ไปมีวิสัยทัศน์เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและมีกำไรอย่างยั่งยืน ให้บริการดีเลิศ ด้วยเสน่ห์ความเป็นไทย และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาการบินไทยให้เป็นสายการบินชั้นนำใน 5 อันดับแรกของโลกที่ลูกค้าพึงพอใจ และสามารถแก้ปัญหาขาดทุนสะสมได้ภายในปี 2565 รวมทั้งมีกำไรอย่างยั่งยืน และขยายธุรกิจเป็นกลุ่มธุรกิจการบินของเอเชียที่เป็นผู้นำในเรื่องการขนส่งผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) และศูนย์ขนส่งสินค้าภายในปี 2570

ยุทธศาสตร์หลัก ๆ บริษัทจะมุ่งไปที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ ทั้งในเรื่องของการเพิ่มอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) ให้อยู่ในระดับ 80% หรือมากกว่า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันกับรายอื่นได้ การเพิ่มรายได้จากความร่วมมือ (ancillary) จาก 2.2% เป็น 5-20% ของรายได้รวม การเพิ่มรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่จากธุรกิจสายการบิน (noncore revenue) จาก 10% เป็น 15-20% ของรายได้รวม ควบคู่กับการบริหาร yield

ขณะเดียวกัน ก็จะเน้นการบริหารต้นทุนพยายามลดต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การบินไทยจะให้ความสำคัญกับการนำเอาดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งมาช่วยในการเพิ่มการขาย เป้าหมายสำคัญเพื่อรักษาและเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ของการบินไทย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 27.3% จากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ที่ตัวเลขนี้อยู่ในระดับ 37.1% หัวใจสำคัญจะอยู่ที่เรื่องของการเพิ่มฝูงบินใหม่ หากไม่มีเครื่องบินใหม่เข้ามาเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ก็จะลดลงไปอีกจนอาจจะเหลือเพียง 10% ควบคู่กันนี้ การบินไทยมีเป้าหมายจะขยายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุง ที่อู่ตะเภา ณ วันนี้เรายังดำเนินตามแผนใหญ่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การบินไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปเป็นเจ้าของโครงการใหญ่ที่อู่ตะเภา หรือธุรกิจเคเทอริ่ง ที่มีโอกาสการเติบโตสูงมากตามการขยายตัวของธุรกิจการบิน

จับมือพันธมิตรช่วยขับเคลื่อน

นายสุเมธกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ การบินไทยยังจะให้ความสำคัญกับเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีและบิ๊กดาต้า ที่โดยหลักก็จะเห็นการผสานพลังกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนำข้อมูลดาต้าต่าง ๆ ที่ทุกคนมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเครือข่ายที่ทุกคนมีมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน นำข้อมูลต่าง ๆ มากองรวมกันและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ออกมาเพื่อนำไปทำแผนการตลาด เพื่อให้ตรงกับความต้องการและอำนวยความสะดวก รวมถึงการสร้างฐานให้ลูกค้ามากขึ้น

ขณะที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ยุทธศาสตร์ที่การบินไทยวางไว้คือ การก้าวขึ้นเป็นสายการบินระดับท็อปไฟฟ์ของโลก และจะล้างการขาดทุนสะสมให้หมดภายในปี 2565 และมีเป้าหมายจะทำให้การบินไทยเป็น national premium airline โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริการ แน่นอนว่า การจะเป็น national premium airline ได้ การบินไทยจะต้องมีความเข้มแข็งและมีกำไรที่แข็งแกร่ง

การจะสร้างบริษัทให้มีความแข็งแกร่งได้ นอกจากพนักงานของการบินไทยทุกคนแล้ว ยังจะต้องมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งด้วย ที่ผ่านมาการบินไทยได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ 3 รัฐวิสาหกิจใหญ่มาระดับหนึ่ง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน โดยทั้ง 3 รัฐวิสาหกิจพร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยทุกคนภูมิใจ และจากนี้ไปก็จะมีการร่วมมือกันมากขึ้นในหลาย ๆ รูปแบบ

“สมคิด” ขีดเส้น 3 เดือนส่งการบ้าน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในแง่ของสถานะของการบินไทยยังถือว่าไปได้ ตอนนี้โอกาสมาถึงประตูบ้านแล้ว ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจที่ตอนนี้กำลังไปได้ดีเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน นอกจากนี้ ต่างประเทศยังมองว่าประเทศไทยนั้นเป็นฮอตสปอตของธุรกิจการบิน ประกอบกับอาเซียนเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกระแสการค้า การลงทุนจากทั่วโลกกำลังมุ่งเข้ามา ดังนั้น เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องกังวลประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรืออื่น ๆ ภูมิภาคนี้ไทยเหนือกว่าประเทศทุก ๆ ประเทศ

ดร.สมคิดย้ำว่า พร้อมจะให้การซัพพอร์ตการบินไทย แต่ต้องทำจริง ๆ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ก็พร้อมจะให้การสนับสนุน และต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม หากสำเร็จก็เป็นความภูมิใจของทุกคน หรือหากไม่สำเร็จก็เป็นความล้มเหลวของทุกคน เป็นความล้มเหลวของคณะผู้บริหาร และตัวผมเองด้วย ก็เป็นคนของบริษัทการบินไทย สหภาพก็ต้องร่วมมือกับผู้บริหาร ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยึดถือเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

“ฟังยุทธศาสตร์ที่ดีดีชี้แจงแล้ว มีความหวัง ขาดทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่ ธุรกิจการบินต้องมองกันยาว ๆ ที่สำคัญคือ การบินไทยจะต้องยืนอยู่ได้ด้วยขาของตัวเอง การหารายได้เพิ่มเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการซื้อเครื่องบินใหม่เข้ามาเพิ่ม และการวางเส้นทางการบินก็จะต้องมีความเหมาะสม ผู้บริหารต้องไปทำแผนมาให้ชัดเจน จะซื้ออะไร อย่างไร ไปทำแผนมาให้ชัดเจนภายในก่อนสิ้นปี และอีกเรื่องที่ต้องดูก็คือ การพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ ทั้งเรื่องของอาหารและบริการของพนักงาน ต้องไปดูให้ละเอียด หรืออะไรที่เป็นคอสต์ก็จะต้องดูให้ละเอียด”

พร้อมกันนี้ ดร.สมคิดยังให้นโยบายเพิ่มเติมว่า จากนี้ไปการบินไทยควรจะหาพันธมิตรใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสายการบินไทยในประเทศหรือต่างประเทศ การร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งกรุงไทย ททท. และ ทอท. เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของบิ๊กดาต้า ที่ต้องเร่งทำ หรือการหารายได้จากด้านอื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงก็จะทำให้การบินไทยเป็นดาวที่จรัสแสง และเป็น asset (สินทรัพย์) ที่สำคัญ และสร้างการเติบโตให้การบินไทยได้ในอนาคต ต้องหาพันธมิตรใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศหรือต่างประเทศ

นี่คือภารกิจสำคัญของการบินไทยที่จะต้องฟันฝ่าและก้าวไปตามแผน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการเฉลิมฉลองการก้าวสู่ปีที่ 60 ของการบินไทย ที่กำลังจะมาถึงในปี 2020