บินไทยเมินแผน”ทีจีเทอร์มินอล” ยันกระทบผู้โดยสาร-ไม่พร้อมลงทุนใหม่

คณะกรรมการบริหารบินไทย ยัน “การบินไทย” ไม่พร้อมย้ายฐานจากอาคารหลักสุวรรณภูมิไปอาคาร 2 ตามแผนของ ทอท.ที่อยากให้มี “TG Terminal” เป็นหน้าตาของสายการบินแห่งชาติ เผยกระทบหนักผู้โดยสาร-สายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ทั้งการต่อเครื่อง-การให้บริการเลาจน์-ระบบสายกระเป๋าไม่เชื่อมต่อ แถมองค์กรยังอยู่ในภาวะขาดทุนไม่เหมาะกับการลงทุนใหม่ ด้าน ทอท.ยืนแผนเดิมเสนอทางเลือกให้การบินไทยก่อน หากไม่สนก็พร้อมเปิดทางสายการบินอื่นเสียบแทน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสายการบินไทยได้เจรจากับทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อเตรียมพร้อมย้ายฐานการบินจากอาคารหลัก หรือ main terminal (อาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปอยู่อาคาร 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ปัจจุบันออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีหน้า และจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2563 เพื่อให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เป็นอาคารสำหรับสายการบินไทยโดยเฉพาะ หรือ TG Terminal นั้น ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทการบินไทยยังยืนยันว่า สายการบินไทยไม่พร้อมที่จะย้ายฐานการบินทั้งหมดไปอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามแผนที่ ทอท.นำเสนอมาได้

กระทบผู้โดยสารสตาร์อัลไลแอนซ์

ล่าสุดคณะทำงานได้นำเสนอข้อมูลทั้งหมด รวมถึงเหตุผลสำคัญ ๆ ที่ไม่ควรย้ายฐานการให้บริการของสายการบินไทยจากอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันไปยังอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (อาคาร 2) ให้กับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไปแล้ว โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้คณะกรรมการมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง คณะทำงานได้เตรียมนำเสนอข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียดให้กับนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการบริหาร และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เพื่อให้พิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง

สำหรับเหตุผลที่สายการบินไทยไม่ควรทำการย้ายฐานการบินไปยังอาคารหลังใหม่นั้นมีหลายปัจจัย และทุกปัจจัยล้วนส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารของสายการบินและผู้โดยสารต่อเครื่องของสายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) และสายการบินที่ตกลงทำการบินร่วม (code share) ทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระหว่างประเทศรวมกว่า 60 สายการบินแทบทั้งสิ้น

และที่สำคัญได้ประเมินแล้วว่าจะทำให้ผู้โดยสารที่ต้องต่อเครื่องใช้เวลาอยู่ในสนามบินนานขึ้นจากเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดแน่นอน

ระบบไม่เอื้อ-ไม่พร้อมลงทุนใหม่

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อส่วนของการให้บริการห้องรับรองภายในสนามบิน (เลานจ์) เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีเลานจ์ให้บริการทั้งหมดจำนวน 8 แห่งอยู่ภายในอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน รวมพื้นที่ให้บริการทั้งหมดประมาณ 8,000 ตารางเมตร และกำลังเตรียมเปิดเลานจ์ใหม่อีก 1 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตกแต่ง หากฐานการบินของการบินไทยย้ายไปอาคารหลังใหม่ ผู้โดยสารก็จะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารและธุรกิจของการบินไทยอีกส่วนหนึ่งด้วย ไม่พียงเท่านี้จากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดยังพบว่า ระบบการขนส่งกระเป๋าของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ยังไม่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารหลังเดิม

“อาคารหลังใหม่มีหลุมจอดที่เป็นอาคารที่มีสะพานเทียบเครื่องบิน หรือที่เราเรียกว่า contact gate จำนวนแค่ 28 หลุมจอด นั่นหมายความว่า เครื่องการบินไทยจะเข้าจอดได้เพียงแค่ประมาณ 50-60% เท่านั้น ที่เหลือลูกค้าของเราต้องไปใช้บริการบัสเกต เพื่อนั่งรถบัสไปขึ้นเครื่องที่จอดอยู่หลุมจอดระยะไกล หรือต้องนั่งรถบัสเข้าอาคารผู้โดยสารสำหรับผู้โดยสารขาเข้า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกจำนวนมาก อาทิ ต้นทุนพนักงานให้บริการที่เราต้องเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น การลงทุนอุปกรณ์ในลานจอด เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ที่สำคัญ สถานะทางการเงินของบริษัทการบินไทยที่ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะขาดทุนค่อนข้างสูง จึงไม่อยู่ในสถานะที่ต้องลงทุนเพิ่มอีกจำนวนมหาศาล

เปิด 2 เงื่อนไขการย้าย 

แหล่งข่าวรายเดิมยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า มี 2 เหตุผลที่สายการบินไทยจำเป็นต้องย้าย คือ 1.การบินไทยสามารถเจรจาต่อรองกับทาง ทอท.ให้ลดค่า landing parking (ค่าลงจอด) และค่าเช่าพื้นที่ให้ไม่ต่ำกว่า 50% ในช่วง 10 ปีแรก ทั้งนี้ เพื่อให้คุ้มกับการลงทุนใหม่เพื่อย้ายฐานการบินไปยังอาคารหลังใหม่ ทั้งลงทุนห้องรับรองใหม่ อุปกรณ์ภาคพื้น สำนักงาน ฯลฯ คาดว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และ 2.เป็นคำสั่งให้ย้ายเพื่อให้สายการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติมีเทอร์มินอลเป็นของตัวเองภายใต้แบรนด์ TG Terminal ตามที่หลาย ๆ ภาคส่วนคิดไว้ให้แล้ว

“ถ้าการบินไทยเราได้เงื่อนไขตามทางเลือกที่ 1 เราก็พร้อมที่จะพิจารณาและเจรจาเงื่อนไขตามข้อเสนอของทาง ทอท. หรือหากมีความจำเป็นต้องย้ายตามคำสั่งรัฐบาลก็คงต้องย้าย แต่ก็ต้องดูว่าจะส่งผลกระทบต่อองค์กรในระยะยาวอย่างไรบ้าง” แหล่งข่าวกล่าว

ทอท.พร้อมหารายใหม่เสียบ

ด้านนายพัฒนพงศ์ สุวรรณชาต หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นการเสนอทางเลือกที่ดีให้กับสายการบินไทย เนื่องจากประเมินแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมที่สายการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติจะมีเทอร์มินอลของตัวเองโดยเฉพาะ โดยอาคารหลังใหม่นี้ก็มีความพร้อมและความทันสมัยเทียบชั้นระดับสากลเช่นกัน

“ทอท.เราเป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน เมื่อเรามีพื้นที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็จะมองถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในภาพใหญ่ก่อน การเสนอให้การบินไทยย้ายอาคารครั้งนี้ก็เป็นพียงแค่นำเสนอทางเลือกเท่านั้น หากสนใจก็คุยกันในเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ หากไม่สนใจทาง ทอท.ก็พร้อมเปิดเจรจาหาสายการบินใหม่ ๆ ที่มีความสนใจเข้ามาใช้บริการแทน” นายพัฒนพงศ์กล่าว