แอร์เอเชีย ผนึกกำลัง กูเกิลคลาวด์ สู่เป้าหมาย “ธุรกิจเทคโนโลยีการท่องเที่ยว” เต็มตัว

แอร์เอเชีย-กูเกิ้ลคลาวด์

แอร์เอเชีย ผนึก กูเกิลคลาวด์ ดึงเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) – ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผสานการทำธุรกิจและการทำงานขององค์กร มุ่งเป้าหมายเป็นองค์กรธุรกิจท่องเที่ยวที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานด้วยอย่างเต็มตัว

นายโทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวว่า แอร์เอเชียเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน และตอนนี้ถึงคราวที่จะต้องดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เป็นมากกว่าธุรกิจสายการบิน

“กูเกิลคลาวด์จะช่วยให้เราสามารถใช้ ‘ข้อมูล’ หรือ ‘Data’ ที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับเปิดโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้แอร์เอเชียอยู่ระหว่างขั้นตอนการสร้าง 2 แพลตฟอร์มใหญ่ ได้แก่ เว็บไซต์ Airasia.com ที่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจการท่องเที่ยวแบบครบวงจร สามารถจองได้ทั้งเที่ยวบิน ที่พัก ทัวร์ รถบัส รถไฟ คอนเสิร์ต และภาพยนตร์ และเว็บไซต์ BigLife

ซึ่งจะรวมธุรกิจดิจิทัลในเครือแอร์เอเชีย เช่น แอปพลิเคชันเงินอิเล็กทรอนิกส์ BigPay ระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน ROKKI เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ Ourshop และธุรกิจโลจิสติกส์ RedBox และ RedCargo เข้าด้วยกันภายใต้บริษัท RedBeat Ventures โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะช่วยต่อยอดธุรกิจจากการใช้ฐานข้อมูลดิจิทัล”

ด้าน นางไดแอน กรีน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กูเกิลคลาวด์ กล่าวว่า แอร์เอเชียเริ่มใช้โปรแกรม G Suite ซึ่งเป็นบริการแอปพลิเคชันของกูเกิลที่ประกอบไปด้วย อีเมล ปฏิทิน ฮาร์ดไดรฟ์ออนไลน์ ระบบจัดการเอกสาร ระบบแชท เพื่อพัฒนาและจัดระบบการทำงานภายในองค์กรแล้ว และด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย ประกอบกับเทคโนโลยี machine learning ของกูเกิลคลาวด์จะทำให้แอร์เอเชียสามารถดำเนินงานในรูปแบบดิจิทัลและให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แอร์เอเชียกับกูเกิลคลาวด์ยังเปิดเผยเป้าหมายของความร่วมมือหลายประการ เช่น พัฒนาระบบให้สามารถคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น เพื่อให้ทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสารและสร้าง Brand Loyalty โดยการสร้างประสบการณ์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นรายบุคคล สร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุดและลดความเสี่ยงผ่านการคาดการณ์ด้านการซ่อมบำรุง การพยากรณ์อากาศที่รายงานผลได้ทันที และการใช้งานบุคลากรลูกเรือให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น