กรมการท่องเที่ยวจี้ฟื้นเชื่อมั่น ดึงเอกชนสร้างมาตรฐานความปลอดภัย

“กรมการท่องเที่ยว” ยันมาตรการด้านวีซ่าไม่ช่วยอะไร เดินหน้าสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยท่องเที่ยวเรียกคืนความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย เตรียมจี้สมาคมท่องเที่ยว-ผู้ประกอบการทั่วประเทศเข้าใจบทบาทตัวเอง ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี หากเจรจาแล้วไม่ได้ผล พร้อมชงให้หน่วยงานที่มีอำนาจออกกฎควบคุมต่อไป หวังให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลความปลอดภัย-ป้องกันการเกิดเหตุที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อให้พิจารณามาตรการด้านวีซ่า โดยใช้รูปแบบ double entry visa หรือขอวีซ่า 1 ครั้ง เดินทางได้ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของไทยในกลุ่มตลาดจีนอย่างเร่งด่วนนั้น ทางกรมการท่องเที่ยวมองว่า มาตรการดังกล่าวนี้ไม่ได้ช่วยอะไร เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนต้องการความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยมากกว่า

ลงพื้นที่จี้เอกชนท่องเที่ยวทั่ว ปท.

ดังนั้นในแผนและทิศทางการดำเนินงานสำหรับงบประมาณปี 2562 นี้ ทางกรมการท่องเที่ยวได้เตรียมเดินสายเจรจากับสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือให้เข้าใจถึงบาทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตระหนักในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ และช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ในฐานะเจ้าบ้านที่ดี

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันป้องกันเหตุต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในภาพใหญ่ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบการเข้ามาสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จนอาจลืมนึกถึงเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

มุ่งสร้างมาตรฐานความปลอดภัย

“วันนี้มีคนทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบไม่รักษานักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่นักท่องเที่ยวเดินทางถึงสนามบินก็มาเจอบริการรถแท็กซี่ที่เอาเปรียบ หรือ บางส่วนก็เน้นขายออปชั่นเพิ่มเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเกิดความเสียหายกับประเทศ ปีนี้กรมการท่องเที่ยวในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการขอความร่วมมือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม และช่วยกันดูแลแหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวมากขึ้น” นายอนันต์กล่าว

และว่า นอกจากกรมการท่องเที่ยวจะดูแลเรื่องมาตรฐานของบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และมาตรฐานด้านที่พักแล้ว ยังมุ่งเน้นการสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยพื้นฐานของนักท่องเที่ยวเข้ามาเสริมอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยทุกฝ่ายต้องช่วยดูแลนักท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัยและไม่หลอกลวงนักท่องเที่ยว

ตั้งเป้าเห็นผลภายใน 6 เดือน

สำหรับแนวทางการลงพื้นที่ดังกล่าวนี้จะโฟกัสเมืองท่องเที่ยวหลักก่อน จากนั้นจะทยอยลงไปในพื้นที่เมืองรองเป็นลำดับต่อไป โดยเฉพาะจังหวัดและพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในบางพื้นที่เกิดเหตุบ่อย อาจต้องกำหนดโซนนิ่งแหล่งท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะเห็นผลตอบรับที่ชัดเจนได้ภายในเวลาประมาณ 6 เดือน

“เราอยากคุยและขอความร่วมมือภาคเอกชนท่องเที่ยวให้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกันก่อน ในฐานะผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวโดยตรง หากไม่บรรลุผล เราอาจต้องคุยกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎระเบียบออกมาควบคุมต่อไป เช่น กำหนดว่าเส้นทางการเดินเรือสามารถทำได้ในจุดไหนบ้าง หรือกำหนดเวลาเปิด-ปิดแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง, กำหนดช่วงเวลาสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวบางอย่าง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว” นายอนันต์กล่าว

ก้าวสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าวต่อไปว่า การท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจบริหารหลักที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเน้นการพัฒนาภาคการผลิตและบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนโดยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งโดยชุมชน ภายใต้การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแบบประชารัฐ และสร้างการท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยง

ระหว่างชุมชน จังหวัด หรือภาค โดยการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อป หรือ OTOP Tourism Village เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานและสร้างรายได้ในชุมชน

นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวยังได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวยุคใหม่ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้บริการด้านข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งข้อมูลของโครงการพัฒนาพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล