“บรรยง” อดีตบอร์ดบินไทยแฉ เจอบ่อยถูกเตะจากชั้นเฟิร์สต์คลาสเพื่อนักบิน

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อดีตกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ถึงกรณีเที่ยวบินการบินไทย ทีจี 971 เส้นทางซูริก-กรุงเทพฯ มีปัญหาล่าช้ากว่า 2.30 ชั่วโมง เพราะนักบินที่จะโดยสาร (Deadhead pilot) ยืนยันจะนั่งชั้นเฟิร์สต์คลาส สุดท้าย 2 สามี-ภรรยาคู่หนึ่งยอมสละที่นั่งให้ จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกันอย่างกว้างขวาง ว่า ผมมีคำถามต่อบางข้อนะครับ…1. การบินไทยมีเครื่องบินที่มีที่นั่ง first class แค่ 16 ลำ จากเครื่องบินเกือบร้อยลำ ถ้าไม่มีที่นั่งชั้นหนึ่ง พวกนักบิน Deadhead Pilot ทำอย่างไรครับ? ไม่บินกลับ หรือ บินกลับมาก็ไม่มีตารางบินต่อในระยะเวลาหนึ่ง

2. การประสานงานภาคพื้นเป็นอย่างไร? ถ้ารู้ก่อน check-in การเปลี่ยนที่นั่งทำได้อยู่แล้วครับ ผมเองไม่ได้นั่งที่ๆ จองบ่อยๆ งานนี้เป็นการทะเลาะกันภายในระหว่างสถานีกับ crew แล้วเลยมาเดือดร้อนผู้โดยสารใช่ไหมครับ?

3. ขอให้สอบต่อให้ละเอียดด้วยนะครับว่า นักบิน Deadhead นั้น มีตารางบินต่อ ที่ต้องพักมาเต็มที่จริงๆ ความจริงการที่ต้องมีนักบินและ crew ที่ deadhead นี้ เป็นต้นทุนที่สูงนะครับ ซึ่งมักเกิดจากการที่มีเครื่องบินมากแบบเกิน หรือการวางแผนการบินที่ไม่ดีพอ ผมเจอเหตุการณ์นี้บ่อยมากบนเครื่องการบินไทย มีอยู่ครั้งหนึ่ง เพื่อนร่วมเดินทางถูกเตะลงจาก first class ที่ปารีส ให้ไปนั่ง C Class เพื่อเปิดทางให้ Deadhead ด้วยซ้ำ แต่เขาทำตั้งแต่ check-in ถ้าไม่งั้นก็คงมีเรื่องเหมือนกัน

สถานะการดำเนินงานของการบินไทยเรากำลังอยู่ในสถานะการวิกฤตนะครับ ทุกฝ่ายต้องอดทน เสียสละกันเยอะๆ ครับ

อนุสนธิจากกรณีพิพาทการบินไทย (ระหว่างสถานีกับนักบินนะครับ …ผู้โดยสารถูกจับเป็นตัวประกันเท่านั้น) มีอีกเรื่องที่อยากให้การบินไทยทำครับ คือสำรวจสวัสดิการการบิน (ทั้งที่ฟรี ทั้งที่ลดราคา) ที่มีให้กับพนักงานทั้งหมด และที่ให้กับอดีตพนักงาน เปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ดูว่าเราให้มากให้น้อยเกินไปรึเปล่า ควรจะปรับอย่างไรไหม เพราะที่ชอบบอกว่าเกาะเคาน์เตอร์ ไม่ว่างไม่ได้ไป ยังไงก็ยังมีต้นทุน มี cost อยู่แน่ๆ

และที่น่ากลัวมากๆ คือ “เทคนิคการทำให้มีที่ว่าง” ที่มีการร่ำลือกันแหละครับ เรื่องนี้ ถ้ามีการปรับเปลี่ยน ลดสิทธิประโยชน์ คงโวยกันแหลก ทั้งพนักงาน ทั้งอดีต ทั้งครอบครัวที่ดันได้สิทธิไปด้วย แต่ควรต้องทำนะครับ เพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่งั้น สุดท้าย ต้องทำอย่าง JAL (เจแปนแอร์ไลน์) อย่าง MH (มาเลเซียแอร์ไลน์) ทุกคนถูกตัดสิทธิ์เหลือศูนย์หมด เพราะบริษัทล้มละลาย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์