“สายการบิน” ปรับแผน รับมือ (หาก) ไม่ผ่าน AOC

จากกระแสข่าวที่ระบุว่าขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการสายการบินอีกกว่า 10 ราย ที่ยังอยู่ในกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ หรือ (AOC Re-certification) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท.

และในจำนวนนี้หากรายใดยังไม่ได้รับใบรับรอง AOC ใหม่ กพท.ก็จะสั่งให้หยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศทันทีนับตั้งแต่กันยายนนี้เป็นต้นไป

“ไทยเวียตเจ็ท” ทบทวนแผน”

“เลือง เชือง อาน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเวียตเจ็ทอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-Certification) ซึ่งปัจจุบันกำลังจะเริ่มขั้นตอนการตรวจสอบที่ 4.1 แล้ว โดยคาดว่าจะตรวจสอบตามขั้นตอนทั้งหมดแล้วเสร็จในอีก 2 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือนตุลาคมนี้

ทำให้ “ไทยเวียตเจ็ท” ต้องหยุดทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ไฮฟอง เวียดนาม โดยในช่วงที่หยุดทำการบินเส้นทางนี้ ทางสายการบินได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว คือ จะให้สายการบินแม่อย่าง “เวียตเจ็ท แอร์ไลน์” เข้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสารแทน เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ

ขณะที่เส้นทางบินจากกรุงเทพฯ สู่ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตีนั้น ที่ผ่านมาสายการบินแม่ทำการบินเองตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

“เมื่อได้รับใบรับรอง AOC ใหม่แล้ว เรามีแผนเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสุวรรณภูมิไปเวียดนาม จีน อินเดีย และไต้หวัน ซึ่งคาดว่าน่าได้เห็นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้”

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา “ไทยเวียตเจ็ท” ได้ยื่นขอใบอนุญาตเปิดเส้นทางบินในประเทศไปแล้ว 5 เส้นทางบินใหม่ คือ กรุงเทพฯ (สุวรณภูมิ) สู่กระบี่ เชียงราย หาดใหญ่ อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นไปตามแผนขยายธุรกิจที่ต้องการเปิดเส้นทางบินให้ครอบคลุมเส้นทางหลักในประเทศ

โดยคาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะเห็นเส้นทางใหม่อีก 1 เส้นทาง จากเดิมที่ให้บริการไปแล้ว 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และเส้นทางข้ามภูมิภาคภูเก็ต-เชียงราย

“เลือง เชือง อาน” บอกด้วยว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2559 ที่ผ่านมา การเติบโตของ “ไทยเวียตเจ็ท” อาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ก็นับว่ายังเป็นไปตามเป้าหมาย มียอดผู้โดยสารรวมนับตั้งแต่วันแรกที่ให้บริการจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 7 แสนคน

และในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ยที่ 85-90% สูงกว่าเป้าหมายซึ่งวางไว้ที่ 80% และตั้งเป้าว่า 5 ปีนับจากนี้ จะมีอัตราการเติบโตด้านรายได้และจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยปีละ 10% ขึ้นไป

พร้อมแจงว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไทยเวียตเจ็ทต้องทบทวนแผนธุรกิจและเป้าหมายต่าง ๆ อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละจุดหมายปลายทาง ขั้นตอนการขอใบรับรอง AOC ใหม่ ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการขอใบอนุญาตบินไปยังเส้นทางใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จะส่งผลกระทบต่อการขยายฝูงบินบ้าง แต่คาดว่าตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป “ไทยเวียตเจ็ท” น่าจะเริ่มรับมอบเครื่องบินได้อีก 7-10 ลำต่อปีตามแผนเดิม จากปัจจุบันที่มี 3 ลำ และจะมีทยอยรับเข้ามาเพิ่มอีกในช่วงปลายปีนี้

“โอเรียนท์ไทย” ปักหลักในจีน

นอกจากสายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” แล้ว อีกสายการบินที่คาดว่าจะไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบของ กพท. ในเวลาที่กำหนดคือ “โอเรียนท์ไทย” ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดพบว่า สายการบินแห่งนี้ได้ปรับแผนการทำธุรกิจไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหันไปโฟกัสการทำตลาดแบบให้เช่าเหมาลำเป็นหลัก

ในประเด็นนี้ แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินรายนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันโอเรียนท์ไทยได้โยกฐานการบินไปอยู่ที่ประเทศจีนโดยมีฮับการบินอยู่ใน 3 เมืองหลัก ประกอบด้วย ฉางชา หนานหนิง และเซี่ยงไฮ้ (ผู่ตง)

นอกจากนี้ “โอเรียนท์ไทย” ยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนเปิดฮับบินในอีก 2 เมืองใหญ่ของจีน ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้เร็ว ๆ นี้ ขณะที่เส้นทางบินในประเทศนั้นมีเพียงแค่ 1 เส้นทางเท่านั้น คือ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต โดยเส้นทางบินทั้งหมดนี้เป็นการให้บริการเป็นให้เช่าเหมาลำเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านี้ “โอเรียนท์ไทย” ยังยึดโมเดลทำงานร่วมกับเอเยนซี่ทัวร์รายใหญ่ในประเทศจีน ขนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทย หากบริษัททัวร์ในประเทศจะจัดแพ็กเกจทัวร์ไปเที่ยวจีนและอยากใช้บริการสายการบินแห่งนี้ก็ต้องประสานงานผ่านไปทางเยนซี่ที่เป็นตัวแทนของโอเรียนท์ไทยเท่านั้น

จากโมเดลการทำงานดังกล่าวนี้ ทำให้ “โอเรียนท์ไทย” แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการตรวจสอบและการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ของ กพท.

นับเป็นการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือกับมาตรการของหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล…หากไม่ผ่านการพิจารณาและไม่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ครั้งนี้…