ลุ้นรัฐต่อลมหายใจ “เอกชน” ท่องเที่ยวไทย

ลุ้นกันแบบวันต่อวันว่ารัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะชงเรื่องนำมาตรการด้านวีซ่ามาช่วยปลุกภาคธุรกิจท่องเที่ยว ตามที่ฟากผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) นำเสนอไปแล้วหรือไม่

24 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างเฝ้าจับตาดูว่า จะมีเรื่องมาตรการวีซ่าเข้าไป “วาระจร” ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ สุดท้ายก็ยังไม่มีมาให้ลุ้น

วันต่อมา “วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า อยากสะท้อนให้ภาครัฐเห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนอีกครั้งว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผล กระทบต่อผู้ประกอบการหนักหน่วงจริง ๆ ทั้งในกลุ่มบริษัททัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทให้เช่ารถ ฯลฯ

แม้ว่าในครึ่งปีแรกผลประกอบการจะดี แต่มาเจอสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนตกลงไปทุกเดือน เดือนละ 30-40% นี่ก็รับไม่ไหวเช่นกัน

“ตอนนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร เตรียมแผนเลิกจ้างคนงานกันแล้ว ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขเชื่อว่าทุกคนประสบปัญหาขาดทุนกันอย่างหนัก ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการเก็บภาษีของรัฐเป็นลูกโซ่ด้วย” วิชิตย้ำ

พร้อมทั้งอธิบายว่า มาตรการที่ทางสมาคมแอตต้านำเสนอไปทั้ง 2 แนวทาง คือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) เป็นเวลา 2 เดือน และ double entry visa หรือลดค่าธรรมเนียม visa on ar-rival เหลือ 1,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือนนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะหากนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา รัฐก็ไม่ได้เสียอะไร

ในทางกลับกัน การลดค่าวีซ่าจำนวน 2,000 บาทต่อคน แลกกับการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวและมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ราว 40,000-50,000 บาทต่อคนต่อทริปนั้น น่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า หากรัฐไม่ทำอะไรเลย คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนน่าจะหายไปราว 3-4 แสนคน คิดเป็นการสูญเสียรายได้ที่ราว 20,000 ล้านบาทแน่นอน

“วิชิต” ยังย้ำด้วยว่า จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะนี้พบว่ายอดการบุ๊กกิ้งตั๋วและโรงแรมล่วงหน้าแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว และเชื่อว่าไม่เพียงแค่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เท่านั้น สถานการณ์นี้น่าจะลากยาวกระทบไปถึงไตรมาสแรกปีหน้าด้วยแน่นอน

พร้อมทั้งคาดว่านักท่องเที่ยวจีนในไตรมาสแรกปีหน้าอาจหายไปอีก 6-7 แสนคน นั่นหมายความว่าหากรวมตัวเลขในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไตรมาสแรกปีหน้า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจพุ่งไปถึงกว่า 50,000 ล้านบาท

แจงกันมาแบบนี้ ต้องจับตากันต่อว่า “รัฐ” โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะควักมาตรการอะไรมาต่อลมหายใจเอกชนท่องเที่ยวในวิกฤตรอบนี้หรือไม่ คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะรู้ผล…