ชงปั้น “พัทยา” ท่าเรือครุยส์ เชื่อม EEC อ่าวไทยอันดามัน

“กลินท์” ประธานบอร์ดท่องเที่ยว EEC ชงมาสเตอร์แพลน ท่าเรือครุยส์ 2 เส้นทางอ่าวไทย-อันดามัน ปั้น “พัทยา” ศูนย์กลางท่องเที่ยวควบธุรกิจ เชื่อมไฮสปีด-รถราง-เรือหรู หนุน “ฉะเชิงเทรา” ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “จันทบุรี/ตราด” ท่องเที่ยวเกษตร คาด 4 ปี ลงทุน 200,000 ล้านบาท

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวและประธานคณะอนุกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการเตรียมเสนอนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้พิจารณาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองท่าเรือสำราญ หรือ Master Plan of Cruise Terminal โดยวางไว้ 2 ด้านคือ ด้านอ่าวไทย จะเริ่มจากสิงคโปร์ต่อเชื่อมมาที่สงขลา-สมุย-หัวหิน-แหลมฉบัง และแหลมบาลีฮาย พัทยา ส่วนด้านฝั่งอันดามันวางแผนจะเชื่อมมาจากมาเลเซียมาที่ภูเก็ตหรือกระบี่เชื่อมต่อมาที่ระนองและไปสิ้นสุดที่เมียนมา

“รูปแบบของพอร์ตจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ โฮมพอร์ตเป็นเมืองที่เป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยว มีสนามบินดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเส้นทางบกและทางอากาศเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งเท่าที่มองพื้นที่ที่เหมาะสมรูปแบบนี้น่าจะอยู่ที่ภูเก็ตหรือกระบี่ ส่วนอีกแบบเรียกว่า พอร์ตออฟคอล จะวางเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางเรือ-ทางอากาศนักท่องเที่ยวมาลงเรือว่ายน้ำเที่ยวแล้วก็บินกลับลักษณะคล้ายกับฮ่องกงหรือสิงคโปร์ โดยพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นการลงทุนรูปแบบนี้อยู่ที่จังหวัดระนอง ในส่วนของแผนการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีเสนอให้ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ภายใต้โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า จากชุมพรเชื่อมไปยังระนอง โดยได้หารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว และคงคุยกันอีก 3-4 เดือนเพื่ออัพเดตความคืบหน้าที่เสนอไป” นายกลินท์กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนการพัฒนา “พอร์ตเรือครุยส์” ที่ปลายแหลมบาลีฮาย พัทยา จัดเป็นส่วนของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพของ EEC ซึ่งจะเริ่มก่อน โดยวางกรอบให้พัทยาเป็น “B-leisure destination” ศูนย์กลางการท่องเที่ยวผสมผสานระหว่างเมืองธุรกิจและเมืองท่องเที่ยวทันสมัย โดยมีแผนงานการพัฒนา โครงการ Pattaya on Pier ให้เหมือนกับ “Pier 39” ซานฟานซิสโก

เพื่อให้เป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น landmark ของพัทยาและของประเทศ กล่าวคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาลงรถไฟไฮสปีดที่สถานีพัทยา ก็สามารถต่อเชื่อมเข้าไปเที่ยวในพัทยาโดยผ่านระบบขนรถราง (tram) ซึ่งจะวิ่งเชื่อมโยงตั้งแต่พัทยาเหนือไปยังพัทยาใต้ ในส่วนนี้ทางท้องถิ่นจะเปิดให้เอกชนเข้าไปลงทุนในรูปแบบสัมปทาน ทั้งยังจะมีการพัฒนาถนนเรียบชายหาดด้วย

“แผนการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวคุณภาพของ EEC ก็คือแผนหนึ่ง ส่วนท่าเทียบเรือครุยส์ (cruise) ที่แหลมบาลีฮายก็ถือว่าอยู่ในแผน EEC และยังอยู่ในมาสเตอร์แพลนด้วย เรื่องมาสเตอร์แพลน

ก็จะเน้นเรื่องท่าเรือครุยส์ ส่วนเหตุผลที่เราเลือกบาลีฮายเพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมีความเหมาะสม แม้ว่าปัจจุบันจะมีท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว แต่ควรจะแยกส่วนกันเพราะแหลมฉบังเป็นท่าเรือสินค้าอุตสาหกรรม เรื่องท่องเที่ยวควรมาที่บาลีฮายมากกว่า” นายกลินท์กล่าว

ส่วนของตัวเมืองพัทยาได้วางแนวทางว่า จะพัฒนาเมืองศูนย์กลางการจัดประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้า (MICE City) เบื้องต้น “กลุ่มรอยัลคลิฟ กับสวนนงนุช” มีความพร้อมแล้ว และวางแนวทางการพัฒนา “Greater Pattaya” ขึ้นที่ อ.บางเสร่ ขณะที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี จะวางเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ ส่วนพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราจะวางเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จ.จันทบุรีและ จ.ตราด จะถูกวางเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยชูจุดเด่นเรื่องสวนผลไม้ต่าง ๆ

ลงทุนท่องเที่ยว EEC 3 แสน ล. 

สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวใน EEC ใน 4 ปี (ปี 2561-2564) คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 29.89 ล้านคนเป็น 46.72 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าใน 4 ปี รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 285,572 ล้านบาทเป็น 508,590 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.8 เท่าใน 4 ปี และคาดการณ์มูลค่าการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนภายใน 5 ปีแรกประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนของการลงทุนในภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยประเมินการลงทุนที่จะเกิดขึ้นใน EEC ของภาครัฐเฉลี่ย 300,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี

รวมกับการลงทุนต่าง ๆ จากภาคเอกชนจะสามารถเพิ่มตัวเลข GDP ได้ประมาณ 1-1.5% ต่อปี “ตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น”

ทั้งนี้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวใน EEC จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพและคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวรวมทั้งสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งด้านการท่องเที่ยว

ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด พัฒนาภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การผลักดันการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพใน EEC จะสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่และต่อภาพรวมเศรษฐกิจ “จำเป็น” ต้องมีระบบขนส่งสาธารณะจากสนามบินอู่ตะเภาไปพัทยาและระยอง รวมถึงแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ซึ่งจะต้องวางแผนร่วมกันระหว่าง EEC และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวใน EEC จะสามารถใช้ประโยชน์ได้จากการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ-อาหาร-วัฒนธรรม การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ man-made tourism site, big event, MICE, sport activity, entertainment, amusement, gastronomy นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ และประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ความหลากหลายของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจของการท่องเที่ยวของไทย และช่วยให้มีการพัฒนาและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เกิดการเพิ่มขึ้นของการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ที่เกิดจากการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนขึ้น โดยการชูเอกลักษณ์ของชุมชนเป็นจุดขายที่สำคัญ

ชง “ตู่” พัทยาฮับท่องเที่ยว

ด้านนายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ จะมีการหารือถึงแนวทางการพัฒนาพัทยาเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและด้านธุรกิจ” เพื่อสร้างประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่พัทยาและบริเวณในเขต EEC ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเรื่องโครงการลงทุนรถรางไปแล้ว

ส่วนโครงการลงทุนพอร์ตท่าเรือครุยส์นั้น เกิดขึ้นจากที่หลายฝ่ายมองว่า พัทยามีความพร้อมควรเป็นเมืองศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ จากเดิมมีพอร์ตเรือครุยส์อยู่ที่แหลมฉบังอยู่แล้ว แต่เห็นพ้องกันว่าแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่เน้นเรื่องการขนส่งสินค้ามากกว่า

“แนวทางการพัฒนาพอร์ตที่แหลมบาลีฮายมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ตามแผน 5 ปี แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ด้านต่าง ๆ เพราะปัจจุบันบาลีฮายเป็นท่าเรือเล็ก หากจะทำเป็นพอร์ตเรือครุยส์ก็จะมีระบบและมาตรฐานที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ต้องรองรับท่าเรือน้ำลึกเท่าไร ต้องมีอาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่ที่จะมาลงเรือไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 คน ซึ่งในส่วนของการทำงานด้านนี้ ทางสำนักงาน EEC อาจต้องมีคณะทำงานย่อยขึ้นมาดูแล โดยดึงส่วนท้องถิ่น อบจ. หอการค้า สภาอุตสาหกรรมฯเข้ามาร่วม เพราะ EEC ดูภาพใหญ่ซึ่งคงจะมีการหารือกันในการประชุมนี้ด้วย ทั้งนี้ พอร์ตแหลมบาลีฮายจะเป็นท่าเรือหนึ่งที่จะไปเชื่อมต่อกับภาพใหญ่ของ Master Plan of Cruise Terminal” นายปรัชญากล่าว