อพท.เปิดแผนขับเคลื่อน 4 ปี ยกระดับเที่ยวชุมชน-หนุนกระจายรายได้

อพท.เปิดแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี ประกาศยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั่วประเทศเทียบชั้นมาตรฐานโลก ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เผยเล็งขยายพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุม 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว พร้อมเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงทำแผนบูรณาการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ตอกย้ำแนวทางการใช้กลไกการท่องเที่ยวชุมชนช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม นักท่องเที่ยวพึงพอใจ ทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้จัดทำแผนขับเคลื่อนระยะ 4 ปี (2562-2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข

ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างความสามารถในการแข่งขันและการสร้างโอกาสความเสมอภาคกันทางสังคม โดยเฉพาะด้านการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ประกอบด้วย 1.บริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษสู่ความเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2.พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชนที่ได้มาตรฐาน 3.บูรณาการ ประสาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในการจัดการการท่องเที่ยว และ 4.ขับเคลื่อนสู่องค์กรที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

นายทวีพงษ์กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าวนี้ อพท.จะเน้นการดำเนินงานภายใต้ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ รูปแบบแรกคือ เน้นเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการขยายผลต้นแบบพื้นที่พิเศษของ อพท.ในพื้นที่อื่น โดยการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่และการประกาศพื้นที่พิเศษ ขยายผลการดำเนินงานไปในพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว พร้อมการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน อาทิ ผลักดันพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการเล่าเรื่อง (story telling) เพื่อสร้างมูลค่าต่อไป, การพัฒนาตามแนว Thailand Riviera (หัวหิน-ชะอำ) เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์โดยการดำเนินการจัดทำแผนและประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหัวหิน-ชะอำการพัฒนาเครือข่ายลำน้ำคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี, การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้, การพัฒนาเส้นทางสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง (ไทย-ลาว)ขยายผลการดำเนินงานสู่ One ASEAN Destination, การพัฒนาในเขตอารยธรรมอีสานใต้ สามเหลี่ยมมรกต (ไทย-ลาว-กัมพูชา), การพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนบูรณาการการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นต้น

ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ เน้นการบริหารจัดการ เพื่อเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (community-based tourism : CBT) ในรูปแบบ CBT story telling และเตรียมแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน การนำร่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์การท่องเที่ยว

ทางน้ำ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การพัฒนาเมืองและชุมชน อันจะนำไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ (creative cities) รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานประสานงานและบูรณาการ

หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (tangible cultural heritage) และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible

cultural heritage) ในพื้นที่พิเศษ และการพัฒนาและขยายผลองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. บูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เป็นต้น

“ในแผนเราจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และมุ่งใช้การท่องเที่ยวช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มบทบาทให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของตัวเอง ดูแลเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการขาย รวมถึงดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ได้มาตรฐานเทียบชั้นมาตรฐานสากล” นายทวีพงษ์กล่าวและว่า ปัจจุบันพื้นที่ดำเนินงานของ อพท. ตามมติคณะรัฐมนตรีมีทั้งสิ้น 6 แห่ง คือ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง, พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง, พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร, พื้นที่พิเศษเลย, พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง

นายทวีพงษ์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนขับเคลื่อน 4 ปี และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทาง อพท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็ว ๆ นี้ จากนั้นจะดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อปรับบทบาทภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) Sustainable Development Goals หรือ SDGs แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งการได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ร่วมดำเนินงานในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นซึ่งเมื่อแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร อพท.จะขยายพื้นที่การดำเนินงานครอบคลุม 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) โดยคลัสเตอร์ที่จะเพิ่มเข้ามา คือ คุ้งบางกระเจ้า, อารยธรรมอีสานใต้, ชายฝั่งทะเลตะวันตก และอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้