ความหวัง “ท่องเที่ยวไทย” “ฟรีวีซ่า” ช่วยได้แน่หรือแค่จิตวิทยา

แฟ้มภาพ

ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเรียบร้อยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับมาตรการยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรากรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ visa on arrival : VOA สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ประเทศ รวมทั้งประเทศจีน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่เกิน 15 วัน จากเดิมที่เก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2,000 บาท เป็นการชั่วคราว 60 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561-มกราคม 2562 หรือจะมีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2561-31 มกราคม 2562

ด้วยความหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม หลังทราบผลการประชุม ครม.ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลากหลายมุมมอง บ้างก็ว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกทาง เกาไม่ถูกที่คัน เพราะที่ผ่านมาภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยโดยรวมยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้สะดุดจนน่าวิตก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำตลาดจีนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และที่บอกว่ากระทบก็ไม่ได้หมายความว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนโดยรวมจะหายไปจากตลาดอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียง”กรุ๊ปทัวร์” เท่านั้นที่ชะลอการเดินทางไปบ้าง

ดังนั้น การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองดังกล่าว ทำให้ประเทศขาดรายได้จำนวนมหาศาล

ขณะที่แถลงการณ์ของรัฐบาลระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น คาดว่าจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30%

ขณะที่ “วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการด้านวีซ่ามาช่วย คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะหายไปประมาณ 3-4 แสนคน หรือลดลงไม่ต่ำกว่า 15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไทยจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น การชะลอการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวจะไม่ลดลงเพียงแค่ในช่วงปลายปีนี้เท่านั้น แต่จะส่งผลยาวไปถึงไตรมาสแรกปี 2562 ด้วย

นั่นหมายความว่า หากรวมตั้งแต่เดือนตุลาคมปีนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า นักท่องเที่ยวจีนจะหายไปถึงราว 1-1.1 ล้านคน และทำให้ไทยสูญรายได้ไปรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ด้าน “อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขานุการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีคลอดมาตรการดังกล่าวออกมาแล้วว่า คู่ค้าในฝั่งประเทศจีนมีการตอบรับในทิศทางที่ดีขึ้น คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีในอีกสัก 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ไป

“มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้น และช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนต่อเดือนในช่วง 2 เดือนที่เหลือ ติดลบลดลง จากที่เคยติดลบอยู่ที่กว่า 30% ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนักท่องเที่ยวจีนแล้ว นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ใน 21 ประเทศที่ได้รับประโยชน์ก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน”

ส่วน “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่คาดการณ์ว่า มาตรการนี้จะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นกรุ๊ปทัวร์และกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) แม้ว่าระยะเวลาในการดำเนินการจะค่อนข้างกระชั้นชิดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงต้องรอประกาศกำหนดวันที่เริ่มดำเนินการที่ชัดเจนก่อนที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าของตัวเอง

อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายรายได้แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไปในทิศทางเดียวกันว่า มาตรการที่ออกมานั้นไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะในหลักของการทำการตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมองและเตรียมการล่วงหน้ามากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนการขายในช่วงปลายปีได้ทัน เนื่องจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสายการบินแบบเช่าเหมาลำจะวางแผนการทำตลาดล่วงหน้าและวางตารางบินไว้ครั้งละ 3-6 เดือน

พร้อมทั้งยังมองว่า การออกมาตรการมาตอนนี้นั้นเป็นเพียงความรู้สึกในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น สำหรับในเชิงธุรกิจคงช่วยได้ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย

ต้องติดตามประเมินกันต่อไปว่า มาตรการนี้จะเป็น “ตัวช่วย” สำคัญในการปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ หรือว่าจะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ในเชิง “จิตวิทยา” เท่านั้น