ทิ้งทุ่น เทอร์มินอล 2 ปลดล็อกปมร้อนดิวตี้ฟรี

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

สัมภาษณ์พิเศษ

ทุกสายตากำลังเฝ้าจับตาถึงการเปลี่ยนแปลงของสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากรในสนามบินสุวรรณภูมิที่ใกล้วันสิ้นสุดสัญญา 27 ก.ย. 2563

โดยมี “คิง เพาเวอร์” รับสัมปทานมา 10 กว่าปี ท่ามกลางความสนใจของบิ๊กธุรกิจที่ประกาศจะชิงประมูล อาทิ “ล็อตเต้” ยักษ์ดิวตี้ฟรี จากเกาหลี, “เซ็นทรัล” เจ้าพ่อศูนย์การค้า และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ในฐานะเจ้าภาพ ได้เตรียมจัดโมเดลใหม่ โดยรวบพื้นที่อาคารผู้โดยสารเดิม อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังเร่งสร้างและอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่เพิ่มเข้ามาในแผนแม่บท จนกลายเป็นดราม่าที่ถูกวิพากษ์ว่า ผิดเพี้ยน

เป็นผลให้คณะกรรมการ หรือบอร์ด ทอท.ที่มี “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุมเมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติให้ชะลอโครงการเทอร์มินอล 2 จนกว่าจะเคลียร์ปัญหาได้ชัดเจน

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงสัมภาษณ์พิเศษ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ถึง “ปมร้อน” ดังกล่าว ก่อนจะครบวาระตำแหน่งตัวเองในเดือน เม.ย. 2562

Q : เหตุที่ชะลอเทอร์มินอล 2 

หลักการคือเราเป็นรัฐวิสาหกิจ ตราบใดมีประเด็นต้องเคลียร์ก็ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งเทอร์มินอล 2 มี 2 ประเด็น คือ 1.ด้านกฎหมาย กรณีที่บริษัทไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ชนะการประกวดแบบ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง แม้ศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจบ ทอท.ได้เสนอเรื่องหารือข้อกฎหมายต่อสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล จึงเลื่อนเซ็นสัญญาจ้างกลุ่มดวงฤทธิ์ออกไปก่อน

2.แผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้สงสัยเกี่ยวกับเทอร์มินอล 2 ว่า ทอท.ดำเนินโครงการไม่ตรงตามผลศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และไม่เป็นไปตามแผนแม่บท เพื่อความรอบคอบ เมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถามไปที่ ICAO เพื่อขอความชัดเจนด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (concourse A) จุดที่จะใช้ก่อสร้างอาคาร เพื่อให้แผนลงทุน 3 โครงการ วงเงิน 7.2 หมื่นล้าน เดินหน้า ได้เสนอบอร์ดสภาพัฒน์พิจารณา คือ รันเวย์ที่ 3 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันตก (west expansion) 6,942 ล้านบาท และเทอร์มินอล 2 วงเงิน 4.2 หมื่นล้าน แต่ขอมติบอร์ดถอนเทอร์มินอล 2 ออกมาก่อน เพราะยังมีคำถามคาใจจากหลายฝ่าย

Q : อีก 2 โครงการรออะไร

บอร์ดสภาพัฒน์อนุมัติแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ตามแผนรันเวย์ 3 กำลังรออนุมัติ EHIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) จะเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เดือน ธ.ค.นี้ แต่จะประมูลควบคู่กันไปในไตรมาส 3 ปีหน้า และเปิดปี 2564 ส่วนอาคารต่อขยายฝั่งตะวันตกจะเปิดประมูลปีหน้า เสร็จปี 2565 จะรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี

Q : ผลกระทบมีอะไรบ้าง

ต้องเคลียร์ประเด็นเทอร์มินอล 2 ให้จบทุกประเด็นก่อนถึงเสนอบอร์ดต่อไป หากอัยการสูงสุด ICAO บอกว่า สิ่งที่ ทอท.คิดผิดก็หยุด ยังตอบไม่ได้ว่าจะเดินหน้าเมื่อไหร่ เพราะเราเป็นแค่ตัวกลาง ถามว่าจะเกิดผลกระทบหรือไม่ อาจมีบ้างเพราะแอร์ไลน์ลงทุนซื้อเครื่องบินเพิ่มเที่ยวบินแล้ว การบินไทยก็สนใจมาใช้พื้นที่นี้ด้วย

Q : ดิวตี้ฟรีมีผลกระทบอย่างไร

กระทบครับ เพราะเดิมจะนำพื้นที่เชิงพาณิชย์กว่า 20,000 ตารางเมตร ของเทอร์มินอล 2 มารวมด้วย เมื่อชะลอแล้ว ราคาประมูลดิวตี้ฟรีก็จะขึ้นอยู่กับดีมานด์ซัพพลาย ถ้าดีมานด์เยอะ ราคาประมูลจะสูงขึ้น ถ้าดีมานด์น้อย พื้นที่โอเวอร์ซัพพลาย ราคาบิดดิ้งจะถูกลง เราต้องมี room of game ที่ชัด ถ้ารวมพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 อาคาร คือ อาคารผู้โดยสารเดิม 25,000 ตารางเมตร ในนี้มีดิวตี้ฟรี 8,000 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นร้านค้า อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จำนวน 25,000 ตารางเมตร และเทอร์มินอล 2 กว่า 20,000 ตารางเมตร เงื่อนไขทีโออาร์จะเป็นอีกเกณฑ์ แต่เมื่อสละเทอร์มินอล 2ไปแล้ว ทอท.จะเปิดประมูลเฉพาะพื้นที่อาคารเดิมและอาคารเทียบเครื่องบินรองเท่านั้น

Q : ประมูลได้เมื่อไหร่ 

เดือน ม.ค. 2562 ทุกอย่างต้องเริ่มแล้ว ถ้าหลุดจากนี้จะเหนื่อย เพราะผู้ชนะต้องใช้เวลา 1 ปี สั่งออร์เดอร์สินค้าแบรนด์ เพราะผู้ผลิตจะสต๊อกตามที่สั่ง เมื่อบอร์ดให้ชะลอเทอร์มินอล 2 ทางที่ปรึกษาต้องทำรายละเอียดทีโออาร์ต่อไป โดยไม่นำส่วนที่ชะลอมาเป็นเกณฑ์คำนวณ คาดว่า 2-3 สัปดาห์จะเห็นความชัดเจน ว่า ประมูลกี่สัญญา แยกตามหมวดสินค้าด้วยหรือไม่ รวมถึงการนำสัญญาสนามบินสุวรรณภูมิรวมเป็นแพ็กเกจเดียวกับ 3 สนามบิน คือ หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่คิง เพาเวอร์ ครบกำหนดสัญญาพอดี รวมถึงส่วนแบ่งผลตอบแทนรายได้ด้วย

Q : ดิวตี้ฟรีกับรีเทลจะรวมหรือแยก

ทุกคนเป็นห่วงมากเมื่อเปิดเสรี ปัจจุบันที่สุวรรณภูมิแยกสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีกับร้านค้าอยู่แล้ว ซึ่งคิง เพาเวอร์ ได้ทั้ง 2 ส่วน ล่าสุด สนามบินอู่ตะเภาก็แยกประมูล 2 สัญญา ซึ่งได้ผู้ชนะคนละราย ก็ต้องถามกลับว่า ทำรูปแบบนี้ดีมั้ย ก็ตอบชัดไม่ได้ ขอรอที่ปรึกษาวิเคราะห์ก่อน

ส่วน pick up counter หรือจุดส่งมอบสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน จะแยกเปิดประมูลต่างหาก และใส่เป็นเงื่อนไขให้ทุกรายใช้บริการได้ โดยเสียค่าบริการให้กับผู้ดำเนินการ เป็นโมเดล common use เหมือนที่ภูเก็ตที่คิง เพาเวอร์ ประมูลได้ เป็นการเปิดเสรีให้ดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีมาใช้บริการ ซึ่งจะเปิดประมูลปลายปีหน้าหรือต้นปี 2563

Q : สัมปทานกี่ปี 

ขนาดการลงทุน 1,000-5,000 ล้านบาท โดยทฤษฎีการลงทุนดิวตี้ฟรีจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 6-7 ปี ดังนั้น ต้องให้เวลาเอกชนอย่างน้อย 10 ปี เพราะ 30 ปี จะนานเกินไปและราคาประมูลจะต้องสูงมาก ๆ