“นักท่องเที่ยว” ไม่ใช่สินค้า (แต่) เป็นธุรกิจเกี่ยวกับ “อารมณ์ เวลา จังหวะ”

ผ่านไปแล้วครึ่งเดือนสำหรับการนำมาตรการฟรีค่าธรรมเนียม visa on arrival หรือ VOA และ double entry visa มาใช้เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเป็นระยะเวลา 60 วัน โดยล่าสุดทุกภาคส่วนรายงานว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลในทิศทางที่เป็นบวกอย่างชัดเจนแล้ว และเชื่อว่าจะช่วยดันตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับคืนสู่ปกติได้ช่วงต้นปีหน้า

“สุรวัช อัครวรมาศ” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวชื่นชมรัฐบาลที่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวนี้ออกมาช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่เกิดวิกฤต เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สภาพการทำการตลาดของคนทำธุรกิจนิ่งลง ทุกฝ่ายผ่อนคลาย และทำให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะกลับคืนมา แต่ในความเป็นจริงของตลาดนั้นไม่ใช่

พูดง่าย ๆ ก็คือว่า อย่าไปคิดว่าพอรัฐออกมาตรการ 1,2,3…มาแล้ว นักท่องเที่ยวจะมาตามที่เรากำหนด เพราะ “นักท่องเที่ยว” ไม่ใช่ “สินค้า” ที่เป็นไปตามสายการผลิตของโรงงาน

แต่ “นักท่องเที่ยว” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์ เวลา และจังหวะ

ในการตัดสินใจการเดินทาง ที่บางครั้งอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาช่วยตัดสินใจด้วย เช่น มีการท่องเที่ยวของประเทศอื่น ๆ เข้ามาเปรียบเทียบด้วย เป็นต้น

และนี่คือ ประเด็นที่เขาบอกว่าเขาได้พยายามพูดมาตลอดเวลาว่า มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ที่จะออกมาควรประกาศออกมาก่อนใช้จริงไม่ต่ำกว่า 1 เดือน โดยในกรณีนี้ควรประกาศตั้งแต่กลาง ๆ เดือนตุลาคม และเชื่อว่าหากมีประกาศก่อนบังคับใช้สัก 1 เดือนน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมากกว่านี้

พร้อมกับย้ำว่า การทำตลาดท่องเที่ยวนั้นเรื่องจังหวะและเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ส่วนตัวจึงเสียดายโอกาสตรงนี้มาก

นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่น่าเสียดายอีกประเด็นหนึ่งคือ หน่วยงานรัฐน่าจะถือโอกาสนี้ในการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการคนไทยที่ทำธุรกิจนำเที่ยวแบบถูกต้องด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ “สุรวัช” มองว่า เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยยกตัวอย่างว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการฟรีค่าธรรมเนียม VOA ออกมาครั้งนี้นั้นหากมองอีกมุมจะพบว่า เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น และใช้งบประมาณรัฐไม่คุ้มค่า เพราะปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่หายไปครั้งนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ “กรุ๊ปทัวร์” และ “ชาร์เตอร์ไฟลต์” ส่วนกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ฉะนั้น สมมุติว่า แทนที่รัฐบาลจะยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA ให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน แต่เอาเงิน 2,000 บาทต่อหัวนั้นช่วยเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้บริษัททัวร์ของไทยหรือเอเย่นต์ทัวร์ในฝั่งจีนช่วยกันกระตุ้นตลาดน่าจะได้ผลตรงเป้าหมายกว่าและน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

“ถ้ามีกรุ๊ปทัวร์เข้ามาแล้วได้รับการรับรองจากบริษัททัวร์ในเมืองไทย บริษัททัวร์ไทยที่รับกรุ๊ปทัวร์นั้น ๆ ส่งรายชื่อไปไว้ที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. เงิน 2,000 บาทนั้นก็ทอนคืนให้บริษัทที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งแนวทางนี้ส่วนตัวมองว่าจะช่วยกระตุ้นเอเย่นต์ทัวร์ฝั่งโน้นเร่งทำตลาดมากขึ้น หรือถ้าไม่จ่ายให้บริษัททัวร์ก็คืนให้นักท่องเที่ยวไปก็ได้ เพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวกลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์” ที่หายไป และไม่เก็บแวตกับบริษัทไทยที่เข้ามาสู่ระบบดังกล่าวนี้ด้วย”

“สุรวัช” มองว่า แนวคิดดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับทั้งภาครัฐ นักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ รวมถึงบริษัทคนไทย กล่าวคือ 1.ทำให้รัฐสูญเสียค่าใช้จ่ายลดลง อาจจะแค่ 30-40% ของจำนวนเงินทั้งหมดเท่านั้น เพราะจ่าย 2,000 บาทให้เฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์

และ 2.บริษัทที่เข้าสู่ระบบจะได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถตรวจสอบการทำธุรกิจของบริษัททัวร์ในประเทศได้ด้วย โดยไม่ต้องไปไล่จับให้เสียภาพลักษณ์ เพราะวิธีนี้บริษัททัวร์จะเดินเข้ามาให้รัฐตราวจสอบเอง

แน่นอนว่า วิธีนี้กลุ่มบริษัทที่เป็น “นอมินี” ก็จะไม่กล้าที่จะเข้ามาร่วมโครงการ เพราะกลัวการถูกสอบ แต่มาตรการที่ออกมานั้นทุกคน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นของกลุ่ม “นอมินี” แทบทั้งสิ้น

พร้อมย้ำทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลพิจารณาในวิธีการดังกล่าวข้างบน ซึ่งเขาได้นำเสนอมาโดยตลอดนั้น เชื่อว่านอกจากช่วยรัฐประหยัดงบฯแล้ว ยังเป็นวิธีที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับบริษัททัวร์ที่ทำธุรกิจถูกต้อง (คนไทย) อีกด้วย….