ทั่วโลกมั่นใจ “การแพทย์” ไทย ดันรายได้เมดิคอลทัวริซึ่มพุ่ง 2.6 หมื่นล้าน

ททท.เปิดผลสำรวจพฤติกรรมเชิงลึกนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ชี้ทั่วโลกมั่นใจบริการทางการแพทย์ของไทย คาดตลาดเมดิคอลทัวริซึ่มปี”61 สร้างรายได้กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้กว่า 13% เผยไทยมีโรงพยาบาล-คลินิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI จากองค์กรรับรองมาตรฐานทางการแพทย์ระดับโลกถึง 64 แห่ง สูงสุดในเอเชีย-อันดับ 4 ของโลก

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ททท.ได้ดำเนินการสำรวจสถิติ และการใช้จ่าย

ของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือกลุ่ม medical tourist จากต่างประเทศที่เดินทางมาใช้บริการสุขภาพด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และศัลยกรรมความงามในประเทศไทย โดยทำการสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศ 220 ราย พบว่ามีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามของไทย รวมประมาณ 66,492 คน คิดเป็นมูลค่าตลาด 2.31 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2561 นี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนี้จะสร้างรายได้ในปี 2561 ที่ประมาณ 2.64 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.9% โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายในการรับบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 234,923-700,000 บาทต่อคน และระยะเวลาในการเข้ามารับบริการในสถานประกอบการเฉลี่ยประมาณ 5 วัน

นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มาใช้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 200,000-400,000 บาท ในส่วนของรีสอร์ตและศูนย์สำหรับการบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์และติดยา มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 230,000-440,000 บาท และจากการสำรวจข้อมูลรีสอร์ตสุขภาพชั้นนำในประเทศไทยพบว่า นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 37,000-160,000 บาท

นางสาวฐาปนีย์กล่าวต่อไปอีกว่า การสำรวจครั้งนี้ ททท.ยังได้ทำการสำรวจพฤติกรรมเชิงลึก ความคิดเห็น และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากทั่วโลกที่มาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย จำนวน 500 คน จากประเทศเมียนมา ลาว ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ส่วนใหญ่รู้จักและหาข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยจากเพื่อนหรือญาติมากที่สุด รองลงมาคือ เอเยนซี่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานประกอบการ

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาใช้บริการเพื่อสุขภาพในประเทศไทยของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสถานประกอบการ, อัตราความสำเร็จในการรักษา และชื่อเสียงของสถานประกอบการ ซึ่งร้อยละ 80 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เลือกพักในโรงแรมระดับ 3 ดาว และมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยเฉลี่ย 3-5 วัน

ไม่เพียงเท่านี้ นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ส่วนใหญ่มีผู้ร่วมเดินทางมาด้วย และท่องเที่ยวในระหว่างที่พำนักในประเทศ โดยกิจกรรมที่เลือกทำมากที่สุด คือ ช็อปปิ้ง รองลงมาคือ สปา ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้พึงพอใจในบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยผู้ตอบคำถามทั้งหมดตอบว่าจะเดินทางกลับมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยแน่นอน

“ททท.ได้ดำเนินการสำรวจศักยภาพและความพร้อมของบริการสุขภาพด้านต่าง ๆ ในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลและคลินิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI จากองค์กรรับรองมาตรฐานทางการแพทย์ระดับโลก จำนวน 64 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค AEC และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก” นางสาวฐาปนีย์กล่าว

และว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศไทยมี 12 พื้นที่ที่มีศักยภาพพร้อมให้บริการทางการแพทย์ และส่งเสริมสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เขาใหญ่ พัทยา หัวหิน เกาะช้าง เกาะสมุย เกาะพะงัน ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น และประเทศไทยมีผู้ให้บริการด้านสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศทั้งหมด 20 ประเภท ประกอบด้วย

โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI (JCI accredited hospital) โรงพยาบาล/ศูนย์เฉพาะทาง โรคซับซ้อน 3.โรงพยาบาลและศูนย์ศัลยกรรมความงาม ศูนย์รวมบริการสุขภาพ โรงพยาบาลและคลินิกศัลยกรรมแปลงเพศ โรงพยาบาลและคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลและคลินิก เลสิก และการรักษาตา โรงพยาบาลและคลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลเด็ก คลินิกและศูนย์แพทย์ชะลอวัย ศูนย์บริการผิวหนังและความงาม ศูนย์/คลินิกสุขภาพเพศชาย รีสอร์ตและศูนย์สำหรับการบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์ และติดยา ศูนย์สะเต็มเซลล์ แล็บปฏิบัติการทางการแพทย์ สปาทางการแพทย์ รีสอร์ตสุขภาพ รีสอร์ตและศูนย์สำหรับบริการดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและศูนย์กายภาพบำบัด