ปิดตำนาน 49 ปี “ดุสิตธานี” เปิดศักราชใหม่โรงแรมไทย (1)

เล่ากันว่า “กรุงเทพฯ” เมื่อราว 60 ปีก่อนผู้คนยังเดินทางกันทางเรือ หรือว่าจ้างรถสามล้อถีบ รถรางบ้าง หรือรถเมล์ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่สาย การคมนาคมทางอากาศและการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นเพิ่งจะเริ่มต้น โรงแรมที่พักมีไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก สูงไม่กี่ชั้น มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวทั้งหมดไม่ถึงแสนคนต่อปี
 
ธุรกิจการค้าขยายตัวจากเยาวราชมาตามถนนเจริญกรุงมาจนถึงสุรวงศ์ สีลม โดยถนนเจริญกรุงเป็นย่านของชาวต่างชาติจึงเหมาะกับตั้งโรงแรม ในช่วงนั้น “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ผู้ก่อตั้ง “ดุสิตธานี” ในวัย 28 ปี เพิ่งกลับจากสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ไปเรียนและตระเวนท่องเที่ยวอยู่ระยะหนึ่ง และได้ประทับใจการบริการของโรงแรมต่าง ๆ ที่ได้ไปพัก ทำให้เกิดความสนใจทำธุรกิจโรงแรมในบ้านเกิดของตน
 
ประจวบกับพี่สาวมีที่ดินอยู่ริมถนนเจริญกรุง จึงขอเช่าทำธุรกิจโรงแรมและเปิดกิจการในปี 2492 ภายใต้ชื่อ “โรงแรมปริ๊สเซส” ให้บริการห้องพัก 60 ห้อง มีล็อบบี้บาร์ ห้องอาหาร เคาน์เตอร์ สายการบิน ร้านค้าเครื่องเงิน ร้านทำผมสระว่ายน้ำ ฯลฯ
 
ท้ายสุด ด้วยข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภคทำให้โรงแรมแห่งนี้เกิดปัญหากวนใจอยู่บ่อยครั้ง ท่านผู้หญิงชนัตถ์เลยตัดสินใจหาที่สร้างโรงแรมใหม่ เพราะต้องการให้โรงแรมมีความสมบูรณ์ด้านบริการมากที่สุด จึงหันมามองที่ดินในย่านพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้สร้างเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย
 
ท่านผู้หญิงชนัตถ์จึงเลือกที่ดินบริเวณหัวถนนสีลม ซึ่งเดิมเป็นบ้านศาลาแดงที่พระยายมราช (ปั้นสุขุม) ราชเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาตกอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำหรับเป็นที่ตั้งโรงแรมแห่งใหม่
 
“ชนินทธ์ โทณวณิก” ทายาทเจน 2 ของดุสิตธานี เขียนไว้ในหนังสือ Dusit Thani 48th Anniversary ว่า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อโรงแรมดุสิตธานีเปิดดำเนินการเมื่อ 48 ปีก่อน ด้วยเอกลักษณ์ของอาคารที่โดดเด่นพร้อมปลายยอดแหลมสีทองสูงเสียดฟ้า บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการโรงแรมและการท่องเที่ยวของประเทศสู่มาตรฐานสากล”
 
พร้อมบอกว่า เมื่อ 50 ปีก่อน “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” มั่นใจมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก และเชื่อด้วยว่าวิธีการสนับสนุนการเติบโตที่ดีที่สุดคือ การสร้างโรงแรม พร้อมตั้งเป้าทำให้ “กรุงเทพฯ” ปรากฏอยู่บนแผนของนักท่องเที่ยวว่าเป็นเมืองที่ต้องไปเที่ยว
 
กล่าวสำหรับชื่อโรงแรม “ดุสิตธานี” นั้นในบันทึกของโรงแรมระบุว่า เป็นชื่อที่เรียกง่าย บอกถึงความเป็นไทย มีความคล้องกันกับชื่อแดนสวรรค์ชั้นดุสิต และยังเป็นนามมงคลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเรียกเมืองจำลองที่ตั้งอยู่ในวังพญาไท
 
เมื่อปี 2461 บวกกับสถานที่ตั้งของโรงแรมก็เคยเป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เจ้าพระยายมราชครั้งสร้างเสร็จแล้ว โรงแรมดุสิตธานียังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 7 เสร็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและงานเลี้ยงฉลอง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเสด็จด้วย
 
“ดุสิตธานี” จึงเป็นโรงแรมแห่งแรก ๆ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการโรงแรมและท่องเที่ยวของไทย ทั้งด้านการนำเสนอความเป็นไทยที่โดดเด่นที่สุด เป็นอาคารที่สูงที่สุด มีห้องพักมากที่สุดถึง 500 ห้องที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นโรงแรมแรก ๆ ที่เปิดให้บริการห้องอาหารไทยที่บริการอาหารไทยตำรับดั้งเดิม และยังเป็นโรงแรมแห่งแรกที่เปิดให้บริการห้องอาหารที่ชั้นบนสุดของอาคาร ซึ่งเป็นที่นิยมของโรงแรม 5 ดาวในหลายประเทศในยุคนั้น
 
ไม่เพียงเท่านี้ยังเป็นโรงแรมที่ไม่ได้ให้บริการเฉพาะห้องพักเท่านั้น แต่ให้บริการครบวงจร ทั้งงานจัดเลี้ยง ห้องอาหารความบันเทิง ฯลฯ
 
นอกจากนี้ “ดุสิตธานี” ยังเป็นเสมือนสถาบันสร้างคนในสายบริการด้วยการจัดหา เชิญชวน ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์สาขามาร่วมถ่ายทอดวิชา ทั้งวัฒนธรรมประเพณีไทย การจัดดอกไม้ การแกะสลักและปรุงอาหารไทยแบบต้นตำรับชาววังรวมทั้งการจัดการอบรมวิชาการโรงแรมโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้ คนที่เคยทำงานที่โรงแรมแห่งนี้จึงเหมือนได้รับประกาศนียบัตรชั้นดีและเป็นเกียรติประวัติแก่ตน และเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานวิชาชีพอีกด้วย
 
นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ธุรกิจโรงแรมของไทยอย่างแท้จริง

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!