สทท.เร่งมาตรฐาน “ปลอดภัย” ทำแผนคุมทุกเซ็กเตอร์/ชูเซฟตี้บัสนำร่อง

สทท.ยกเครื่องมาตรฐานความปลอดภัยนักท่องเที่ยวทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ ตั้ง “ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร” นั่งแท่นประธานคณะทำงาน ตั้งเป้าร่างแผนความปลอดภัยครอบคลุมทุกคลัสเตอร์ด้านท่องเที่ยว ทั้ง “อาหาร-โรงแรม-ขนส่ง” เสร็จภายใน 1 ปี พร้อมชูโครงการ Safety Bus Thailand นำร่องเฟสแรกไปก่อน ด้านกลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่งขานรับ

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุม สทท.

เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานดูแลด้านความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยมี ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร ซึ่งเป็นรองประธานสภาสาขาขนส่งท่องเที่ยวทางบก เป็นประธานคณะทำงาน ทั้งนี้ เพื่อดูแลและกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการขนส่งนักท่องเที่ยวทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศอีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกด้วย

ร่างแผนครอบคลุมทุกเซ็กเตอร์

ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาสาขาขนส่งท่องเที่ยวทางบก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพใหญ่ของมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ สทท.นั้น ได้กำหนดให้ครอบคลุมทุกเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ ความปลอดภัยด้านการขนส่งนักท่องเที่ยว ความปลอดภัยด้านอาหาร ความปลอดภัยของโรงแรม ที่พัก ฯลฯ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะ 3 เดือน 6 เดือนและ 1 ปี โดยในช่วง 3 เดือนแรกนี้จะกำหนดคอนเซ็ปต์ทั้งหมดให้ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ร่วมกับกรมเจ้าท่าในการทำมาตรฐานความปลอดภัยทางเรือ ร่วมกับมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคในการทำมาตรฐานความปลอดภัยทางบก เป็นต้น ซึ่งจะวางกรอบให้ครอบคลุมทุกเซ็กเตอร์ภายใน6 เดือน จากนั้นร่างแผนใหญ่เรื่องการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยต้องออกมาอย่างชัดเจนและเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 ปี หรือภายในสิ้นปี 2562 นี้

ส่ง “เซฟตี้ บัส” นำร่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ภาพการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทาง สทท.ได้ทำงานร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทยเดินหน้าโครงการมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับรถขนส่งนักท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อว่า “เซฟตี้ บัส ไทยแลนด์” หรือ Safety Bus Thailand นำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว

“โครงการนี้เราดำเนินการไปแล้วและมีผู้ประกอบการที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 100 ราย และมีพนักงานขับรถที่ได้ใบอนุญาตแล้วประมาณ 1,000 คน และคาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีรถที่ผ่านโครงการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 300 คัน ซึ่งในอนาคตเรามีแผนผลักดันให้มีการกำหนดดาวลักษณะเดียวกับโรงแรม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้งานได้ตามลักษณะการใช้งานมากขึ้น” ดร.วสุเชษฐ์กล่าว

ผู้ประกอบการรถนำเที่ยวขานรับ

นายจิระเดช ห้วยหงษ์ทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท หงษ์ทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า ตามปกติรถโดยสารนำเที่ยวทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมการขนส่งทางบก

อยู่แล้วทุก ๆ 6 เดือน หากจะกำหนดมาตรฐานการตรวจรถโดยสารนำเที่ยวขึ้นมาใหม่ ก็จะต้องมาดูในรายละเอียดของมาตรฐานที่จะออกมาใหม่ว่าต่างจากมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกที่ได้คุณภาพอยู่แล้วอย่างไร ใครเป็นผู้กำหนด

สำหรับเรื่องการกำหนดอายุรถโดยสาร ตนเห็นว่าไม่ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย ส่วนสำคัญที่ควรพิจารณาคือคุณภาพของรถมากกว่าสอดคล้องกับนายวรพจน์ ชะรินทร์ ประธานกรรมการ บริษัท สวีทรานส์ จำกัด ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหา

ด้านมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารนำเที่ยว เป็นไปในลักษณะของการออกกฎเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้กฎระเบียบที่มีอยู่ยังไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร ยังสามารถยกระดับและเพิ่มเติมให้ครบถ้วนได้อีก ซึ่งต้องอาศัยทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยวในการแก้ไขปัญหา

โดยช่วงแรกทุกฝ่ายอาจจะต้องยอมแบกรับผลกระทบบางส่วน เพื่อให้ในท้ายที่สุดผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยวทั้งหมดจะสามารถแข่งขันกันได้บนมาตรฐานเดียวกันอย่างแท้จริง

“การกำหนดอายุรถและคุณภาพมาตรฐานของรถต้องถูกทำควบคู่กันไป โดยรถเก่าที่ยังอยู่ในระบบตอนนี้ก็ต้องมีกำหนดระยะเวลาที่จะต้องออกจากระบบ เพื่อที่เราจะจบปัญหาด้านมาตรฐานรถอย่างแท้จริง ซึ่งก็จะต้องทำไปพร้อมกับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้กับรถใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบอย่างจริงจังมากขึ้น” นายวรพจน์กล่าว

ชี้การดำเนินงานต้องใช้เวลา

ด้านธนัช เงินประเสริฐศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนัชวิชญ์ แทรเวล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยวส่วนมากเห็นด้วยกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารนำเที่ยว เพียงแต่การแก้ไขปัญหาอาจจะต้องใช้เวลายาวนาน และอาจจะต้องอาศัยมาตรการช่วยเหลือด้านทุนจากภาครัฐในช่วงแรก ในลักษณะของกองทุนหรือเงินสนับสนุน

ทั้งนี้ เนื่องจากหลังการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยใหม่ ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะต้องลงทุนซื้อรถใหม่ หรือแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงเพื่อยกระดับความปลอดภัยสูงมากจนอาจจะกระทบกับโครงสร้างราคาโดยรวมของตลาด จนอาจจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อตลาดการท่องเที่ยวไทยได้